สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ว่า คณะผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ มารวมตัวกันในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ครั้งที่ 29 หรือ คอป29 ณ อาเซอร์ไบจาน โดยให้คำมั่นว่าจะ “เปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” และมุ่งเป้าจำกัดอุณหภูมิโลก ไม่ให้สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นใหม่จากเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ ในโครงการคาร์บอนโลก (จีซีพี) ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าวพบว่า หากต้องการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โลกจะต้องบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในช่วงปลายทศวรรษที่ 2030 ซึ่งเร็วกว่าแผนการปัจจุบันของประเทศส่วนใหญ่อย่างมาก

บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า แม้พลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลบางส่วน แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลก สูงขึ้นในปีนี้

ด้านนายเกล็น ปีเตอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์วิจัยสภาพอากาศระหว่างประเทศ หรือซีเซโร (CICERO) ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า โลกกำลังเข้าใกล้จุดสูงสุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล “อย่างน่าผิดหวัง”

ทั้งนี้ ผลการวิจัยเบื้องต้นเผยให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลก เพิ่มขึ้น 0.8% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 37,400 ล้านตัน.

เครดิตภาพ : AFP