ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และสมาคมแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ (Trash Hero Thailand Association) ในฐานะตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 160 องค์กร ยื่นแถลงการณ์ถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งใน “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ก่อนถึงการเจราจารอบสุดท้ายระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมนี้ ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยเน้นย้ำให้รัฐบาลสนับสนุนมาตรการที่ควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน ควบคุมสารเคมีอันตราย และยุติมลพิษตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก
สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (UNEA 5) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิก 175 ประเทศ ให้มีการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567
มาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย หรือ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” นี้ มุ่งเน้นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติก มาตรการกำกับการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว สารเคมีและสารเติมแต่งที่น่าห่วงกังวล การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไปจนถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและกลไกการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยจุดมุ่งหมายหลักคือการยุติปัญหามลพิษพลาสติกที่ไร้พรมแดน ต่อมาได้มีการประชุมเพื่อร่างสนธิสัญญาฉบับนี้มาแล้ว 4 ครั้ง โดยการเจรจาครั้งที่ 5 ที่จะเกิดขึ้นเป็นรอบสุดท้ายจะเริ่มขึ้นในอีก 10 วันข้างหน้า
การเจรจาที่จะถึงนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่ประชาคมโลกจะสามารถบรรลุสนธิสัญญาที่จะยุติมลพิษพลาสติกและกำหนดระดับการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนได้ แถลงการณ์ของภาคประชาสังคมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งในการเจรจาครั้งนี้ โดยมีข้อเรียกร้อง 10 ประการดังนี้
- ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก และสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
- กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
- กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
- กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายและขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น ขยายระบบใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้จริงภายในประเทศ ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
- กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
- กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
- ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
- ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
- กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
- กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
“เราปฎิเสธไม่ได้ว่า การผลิตพลาสติกในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืน” ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโสและผู้จัดการโครงการพลาสติกระดับเอเชียอาคเนย์ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กล่าวและว่า สนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นโอกาสสำคัญที่ทั่วโลกจะได้หาทางออกสำหรับปัญหามลพิษพลาสติกซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตตลอดจนการกำจัด โดยเฉพาะเรื่องการลดการผลิตพลาสติกปฐมภูมิ ที่แม้จะเป็นประเด็นที่ท้าทาย แต่การไม่พูดถึงหรือมองว่าเป็นไปไม่ได้ไม่ใช่ทางออก การที่ทุกคนจากหลากหลายความเชี่ยวชาญมารวมตัวกันเพื่อหารือเรื่องที่ท้าทายนี้บนพื้นฐานของข้อมูลต่างหาก ที่จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในเวทีเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก (INC-5) ด้วยการร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ มุ่งเป้าลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมและภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน
พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กรีนพีซมุ่งหวังให้ผู้แทนคณะการเจรจาของประเทศไทยสนับสนุนมาตรการลดการผลิตพลาสติก และมีนโยบายสนับสนุนและเอื้อให้เกิดระบบใช้ซ้ำ ไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอที่นำไปสู่การทำธุรกิจแบบพึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจากกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล และแสดงจุดยืนในการแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังเพื่อปกป้องทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลก นำไปสู่โลกคาร์บอนต่ำ ปลอดมลพิษ และไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่อยู่บนพื้นฐานระบบใช้ซ้ำ”
“การผลิตพลาสติกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการใช้สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตพลาสติกทุกประเภทมากกว่า 13,000 ชนิด ซึ่งมีมากกว่า 3,000 ชนิดที่จัดเป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สารเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดในการใช้หรือยกเลิกการใช้อย่างเด็ดขาด และหาสารทดแทนที่ปลอดภัยกว่ามาใช้ การดำเนินการเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและครอบคลุมในทุก ๆ ประเทศ เราเชื่อว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาสารเคมีในพลาสติกที่อันตรายและเป็นพิษได้เมื่อมีมาตรการบังคับที่สามารถบังคับใช้ได้ทั่วโลก ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีสนธิสัญญาพลาสติกโลกมาใช้กำกับ” ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงาน มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวทิ้งท้าย