การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 (COP29) ที่เปิดฉากขึ้น ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 พ.ย. 67) กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก
ประกอบกับการที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าปี 2567 อาจเป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอาจสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีส ‘COP29’ ครั้งนี้ จึงเป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำจากทั่วโลกจะมาร่วมกันหารือและกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่ 10 ประเด็น ได้แก่
1. การทำลายสถิติ
ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำลายสถิติใหม่ในปีที่ผ่านมา โดยแตะระดับสูงสุดที่ 40,600 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นอีกภายในสิ้นปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นนี้กลับเป็นไปอย่างล่าช้า
2. สภาพอากาศที่เดือดขึ้นอย่างเห็นชัด
การประชุม COP28 ที่จัดขึ้น ณ นครดูไบเมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่นานาชาติเห็นพ้องต้องกันที่จะลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพอากาศ แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะยังไม่ถึงขั้นการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสิ้นเชิงตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากการเจรจามายาวนานกว่าสามทศวรรษ อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ทำให้ความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเผชิญอุปสรรคเป็นอย่างมาก
3. ชัยชนะของ ‘ทรัมป์’
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ได้สร้างความไม่แน่นอนและท้าทายต่อการจัดการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเดิมทีก็มีความท้าทายอยู่แล้ว คาดการณ์ว่าบุคคลสำคัญระดับโลก เช่น ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและประธานาธิบดีฝรั่งเศส อาจไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าและผลลัพธ์ของการประชุมในภาพรวม
4. เรื่องหลอกลวงครั้งใหญ่
การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่เคยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็น ‘เรื่องหลอกลวงครั้งใหญ่’ ซึ่งก็มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเขาจะทำการตัดสินใจเช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด นั่นคือการถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสเมื่อเข้ารับตำแหน่ง
“ตอนนี้มีความหวังเพียงเล็กน้อยว่าเราจะสามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ แต่การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจดับความหวังนั้นลง” ‘บ็อบ วาร์ด’ ผู้อำนวยการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จากสถาบันวิจัยแกรนแทม ประเทศอังกฤษ กล่าว
5. จุดเดือด
‘อันโตนิโอ กูเตร์เรส’ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาแสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อสถานการณ์วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศโลก ก่อนการประชุม COP29 โดยได้กล่าวเตือนว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามร้ายแรงที่อาจนำไปสู่หายนะ และได้กล่าวหาบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลว่ามีส่วนในการกระทำดังกล่าว เลขาธิการสหประชาชาติได้เน้นย้ำว่าสถานการณ์ปัจจุบันนั้นรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา โดยระบุว่ายุคของภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกได้เข้าสู่ยุคของภาวะโลกร้อนระอุอย่างเต็มตัว
6. อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศา
ความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิจัยเตือนว่าอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีส ภายในระยะเวลาอันใกล้ สถานการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของโลก เช่น การละลายของแผ่นน้ำแข็ง การพังทลายของระบบนิเวศทางทะเล และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ผลกระทบที่ตามมาจะส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาที่อาจต้องเผชิญกับปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานและการขาดแคลนทรัพยากร
7. การระดมเงินทุน
‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ถือเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจหลักในการเจรจาระหว่างการประชุม COP29 จึงเป็นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อรับมือกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังรวมถึงการจัดสรรเงินทุนเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้วในอดีต
การศึกษาต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินทุนเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 เท่าของเป้าหมายเดิม หรือประมาณ 500,000 – 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เงินทุนจำนวนมหาศาลนี้จะมาจากหลากหลายแหล่ง ทั้งจากภาคเอกชน เช่น บริษัทและนักลงทุนรายย่อย รวมถึงจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ
8. การบิดเบือนความจริง
สถานการณ์การเจรจา COP29 ที่บากู ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการเปิดเผยคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่า ‘เอลนูร์ โซลตานอฟ’ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในทีม COP29 ของอาเซอร์ไบจาน กำลังเสนอโอกาสทางธุรกิจด้านพลังงานให้แก่นักลงทุนรายหนึ่ง ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายหลักของการประชุมที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด คำพูดของโซลตานอฟที่กล่าวถึง ‘แหล่งก๊าซจำนวนมากที่รอการพัฒนา’ สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความหวังที่จะบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมในการประชุมครั้งนี้ลดลงไปอย่างมาก
9. ก้าวสำคัญสู่ COP30
‘ลอร์ดสเติร์น’ ประธานสถาบันวิจัยแกรนแทรม มองว่าการประชุม COP29 ที่บากู เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของการประชุม COP30 ที่ประเทศบราซิลในปีหน้า ส่วนในปีถัดไป การประชุม COP30 ที่จะเกิดขึ้น ณ เมืองเบเล็ม บนป่าอะเมซอน ประเทศต่างๆ จะต้องนำเสนอแผนระดับชาติฉบับใหม่ (NDC) เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดภาวะโลกร้อนทั่วโลก ดังนั้น ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาจากการประชุม COP29 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ประเทศต่างๆ กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้นใน NDC ฉบับใหม่
10. เวลาของเรากำลังจะหมดลง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นวิกฤตที่เร่งด่วนและร้ายแรง ‘โยฮัน ร็อคสตรอม’ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังด้านสภาพภูมิอากาศ ได้เตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากทุกฝ่ายไม่รีบการดำเนินการอย่างจริงจังโดยเร็วที่สุด
“เมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เราก็ต้องเผชิญการซ้ำรอยความไม่ใส่ใจต่อปัญหาสภาพอากาศเหมือนสมัยก่อนของเขาอย่างดีที่สุด ซึ่งก็คือการหยุดนิ่งนานถึงสี่ปี ซึ่งเราไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้ในทศวรรษที่สำคัญนี้” ร็อคสตรอม ย้ำ
อย่างไรก็ตาม ‘นิก ลาส สเติร์น’ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้ให้มุมมองที่แตกต่างออกไป โดยมองว่าแม้การเข้ามาดำรงตำแหน่งของทรัมป์จะสร้างอุปสรรค แต่ความมุ่งมั่นของนานาชาติในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศยังคงแข็งแกร่งและจะไม่หยุดชะงักง่ายๆ
“การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ จะทำให้ชีวิตยากขึ้น แต่เราจะไม่ยอมแพ้ เพราะนั่นคงเป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด” สเติร์น กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก: The Guardian