เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่รัฐสภา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติความเหมาะสมและการมีส่วนได้ส่วนเสียด้านผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่ผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในการเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
โดยนายแทนคุณ กล่าวว่า เนื่องด้วยประเทศไทยมีพันธกรณีตามกรอบ ได้กำหนดให้รัฐภาคีจำต้องสกัดกั้นมิให้อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแทรกแซงนโยบายสาธารณสุขว่าด้วยการควบคุมยาสูบ สำหรับปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า จัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของประเทศ เนื่องจากมีผลกระทบต่อการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ตลอดจนสุขภาพของประชาชนไทย จนสภาได้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่มีกลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า นายอักษรย่อ ม. และ อ. ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมเป็น กมธ. ซึ่งขัดต่อพันธกรณี ระหว่างประเทศและกระทบต่อนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มทุนดังกล่าว มีความเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมยาสูบยักษ์ใหญ่ของโลก และมีการพยายามแทรกแซงนโยบายด้านการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศมาโดยตลอด โดยไม่หวั่นต่อการถูกดำเนินคดี ซึ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงต่อสาธารณะถึงความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎร
นายแทนคุณ กล่าวว่า โดยภาคสุขภาพได้มีการยื่นหนังสือถึงประธานสภา จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ 1. เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) เครือข่ายผู้ปกครอง ครู เด็กและเยาวชน ได้ขอเรียกร้องให้การแต่งตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบ และ 2. เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้ขอให้พิจารณาตรวจสอบการแต่งตั้งกลุ่มทุนใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาสูบ เข้าเป็น กมธ. ว่าเข้าข่ายการขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 หรือไม่
“ดังนั้น การยื่นหนังสือในวันนี้ขอติดตามผลการยื่นหนังสือทั้ง 2 ครั้ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังขอให้ประธานสภา ได้โปรดพิจารณาคุณสมบัติ ความเหมาะสม และการมีส่วนได้ส่วนเสียด้านผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่ในการเข้าเป็น กมธ. ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะส่งผลถึงความไม่ชอบธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมายของรายงาน กมธ. หรือไม่ และสภาผู้แทนราษฎร ไม่ควรรับรองรายงานของคณะ กมธ. ฉบับดังกล่าว หรือหากรับรองรายงาน ขอให้มีการตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานการประชุมของสภา ถึงความไม่ชอบธรรมที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบร่วมเป็นกรรมาธิการใน กมธ.วิสามัญฯ ที่เสนอรายงานต่อสภาด้วย” นายแทนคุณ กล่าว
ด้านนายคัมภีร์ กล่าวว่า ตนขอรับเรื่องนี้ไปผ่านตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ และจะนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อโปรดพิจารณาส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป.