กระทงที่เก็บได้ในปี 2566 พบว่ากระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หยวกกล้วย ใบตอง มันสำปะหลัง ชานอ้อย ขนมปัง จำนวน 618,951 ใบ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 96.74 ส่วนกระทงที่ทำจากโฟมมีจำนวน 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.26 ของกระทงทั้งหมด ทั้งนี้ กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95.70 เป็น ร้อยละ 96.74 ส่วนกระทงโฟมมีจำนวนลดลงจากร้อยละ 4.30 เป็นร้อยละ 3.26 ในส่วนของการลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ซึ่งเป็นการลอยกระทงมิติใหม่ที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเทศกาลลอยกระทงประจำปีนี้ ณ คลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข มีประชาชนให้ความสนใจร่วมลอยกระทง จำนวน 3,744 ใบ
และปีนี้กรุงเทพมหานครอยากให้การใช้โฟมเป็นวัสดุของกระทงเป็นศูนย์ (0%) พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดใช้กระทงขนมปัง เนื่องจากลอยกระทงขนมปังในระบบปิด นํ้าจะเน่าเสีย สัตว์นํ้าขาดออกซิเจนและตายในที่สุด จากเหตุเกิดที่สวนสันติภาพในปีที่แล้ว ต้องมีการฟื้นฟูบ่อนํ้าถึง 4 เดือน และสัตว์นํ้าตายเป็นจำนวนมาก และปีนี้คาดว่าจำนวนกระทงน่าจะมากกว่าปีที่แล้ว เพราะ
วันลอยกระทงเป็นคืนวันศุกร์
กระทงวัสดุธรรมชาติใช้เวลาย่อยสลาย
แต่ละปีเรารณรงค์ให้สร้างสรรค์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ แต่ไม่ยั่งยืน เพราะกระทงธรรมชาติมารวมตัวกันในวันกระทงเกิดปัญหานํ้าเน่าเสียตามมา กลายเป็นขยะอินทรีย์ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งก๊าซมีเทนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าการเผาไหม้จากนํ้ามัน
Won Phen กระทงไร้ขยะ ใช้ซํ้าไม่รู้จบ
ลอยกระทงปี 2567ได้มีการเปิดตัวครั้งแรก น้อง วันเพ็ญ Won Phen มีที่มาจาก Wonderful Phenomenon ที่แปลว่า ปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์ที่ทำให้เกิดประเพณีอันสวยงามนี้ขึ้นทุกปี กระทงไร้ขยะ ใช้ซํ้าได้ไม่รู้จบ โดย “ก้องกรีนกรีน” ร่วมกับ Qualy สตูดิโอด้านออกแบบ และมูลนิธิ TerraCycle Thai ที่มีวัตถุประสงค์ลดขยะในแม่นํ้าลำคลอง พร้อมรักษาประเพณีลอยกระทง รักษาแหล่งนํ้าและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กัน โดยนำขยะพลาสติกจากคลองลาดพร้าวมาสร้างสรรค์เป็นกระทง นำกลับมาลอยซํ้าโดยที่ไม่สร้างขยะในลำนํ้าต่อไปอีก และยังใช้วิธีเช่าแทน รายได้นำเข้ามูลนิธิ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานคนเก็บขยะต่อไป
Won Phen ผลิตมาจากขยะพลาสติกเบอร์ 5 ซึ่งเป็นขวดแชมพูฝาขวดนํ้า และเบอร์ 2 กล่องพลาสติกบรรจุอาหารที่ใส่ไมโครเวฟได้ พลาสติก 2 ชนิดนี้มีความเหนียวและทนทาน นำมาหลอมแล้วขึ้นรูปใหม่ ทำเป็นรูปกระทง และมีพื้นที่สำหรับใส่เทียนซึ่งเป็นเทียนหอมแบบกลม โดยได้เตรียม “Won Phen” ไว้จำนวน 700-1,000 ใบ สำหรับผู้ไปลอยกระทงในงานลอยกระทง ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่บูธ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 15 พ.ย. 2567 เวลา 16.00-22.00 น.
ค่าเช่ากระทงใบละ 59 บาท ซึ่ง “Won Phen” จะนำไปลอยในแหล่งนํ้าแบบปิด ไม่นำไปลอยในแม่นํ้าเจ้าพระยา เมื่อลอยเสร็จแล้วจะมีเจ้าหน้าที่เก็บกลับมาเมื่อทำความสะอาด แล้วนำกลับมาใช้ซํ้าวนไป
กระทงเน่าเต็มคลองลาดพร้าว
ทักข์ศรณ์ ธรรศณัฐพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการบริหาร มูลนิธิ TerraCycle Thai เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ Won Phen มาจากมูลนิธิฯได้ทำงานเก็บขยะในคลองลาดพร้าว ซึ่งมีระยะทางยาว 24 กม. ดำเนินงานมาแล้ว 4 ปี ตัวเลขขยะที่เก็บได้เฉลี่ยวันละ 1-1.5 ตัน ยิ่งในวันลอยกระทงพบว่าขยะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ตัน โดยวิธีเก็บขยะคลองลาดพร้าวจะมีทุ่นดักขยะ4 จุด เริ่มต้นบริเวณซอยลาดพร้าว 80 ไปจนถึงบริเวณราบ 11 ระยะทาง 5 กม.ในแต่ละวันจะมีเรือจำนวน 2 ลำพร้อมคนงานประมาณ 4-5 คนไปตักขยะขึ้นเรือ แล้วนำมาเทกอง ทิ้งให้ขยะแห้งบริเวณลาดพร้าววังหิน 43 โดยขยะที่เก็บได้จะไม่นำสู่หลุมฝังกลบ จะมีกระบวนการคัดแยก ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้จะรวบรวมไว้เป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าต่อไป
ทักข์ศรณ์ เล่าว่า ทุกปีเช้าวันลอยกระทงจะพบขยะกระทงจำนวนมาก ไม่ว่ากระทงจากใบตอง ขนมปัง กาบกล้วยโฟม รวม ๆ แล้วเกือบ 2 ตัน แม้กทม.จะเก็บมาตั้งแต่เที่ยงคืน แต่ปรากฏว่าในตอนเช้ายังมีขยะกระทงมากองรวมกันคลองลาดพร้าว ขยะกระทงบางส่วนไหลมาจาก จ.ปทุมธานี เราไม่สามารถนำขยะเหล่านี้ไปทำปุ๋ยได้ ได้แต่เก็บ ตากให้แห้งรวบรรวมใส่ถัง เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าขยะปกติ
เก็บขยะต้นทางก่อนไหลสู่ทะเล
“ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่พบปัญหาขยะพลาสติกในทะเล TerraCycle Thai เป็นเอ็นจีโอที่ทำเรื่องนี้จนวันนี้เข้าสู่ปี 5 โดยเป้าหมายหลักคือการลดขยะในทะเลและแหล่งนํ้าธรรมชาติ เรามองว่าขยะจากในคลองจะไหลไปลงแม่นํ้าเจ้าพระยา และสุดท้ายจะลงทะเลดังนั้นจึงต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ที่สำคัญขยะพลาสติกเมื่อไหลลงสู่ทะเลกลายเป็นไมโครพลาสติก ที่ไปปนเปื้อนในสัตว์ทะเลย้อนกลับมาที่ร่างกายของทุกคน โดยทำงานร่วมมือกับสำนักงานเขตลาดพร้าว จตุจักร และห้วยขวาง ซึ่งดูแลคลองลาดพร้าว และพื้นที่ของคลองสามารถวางทุ่นดักขยะได้ เพราะไม่มีเรือสัญจรถ้าเทียบกับคลองแสนแสบ” ทักข์ศรณ์ บอกเล่า
ทุก ๆ เช้าเรือตักขยะจะลอยอยู่ในคลองลาดพร้าว อีกหน้าที่หนึ่งสร้างจิตสำนึกให้บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ริมคลอง ไม่ทิ้งขยะลงในคลองเหมือนเช่นที่ผ่านมา หลายบ้านวางขยะไว้หน้าบ้าน จากเดิมจะเห็นขยะชิ้นใหญ่ทั้งที่นอน เครื่องใช้ไฟฟ้าโยนลงสู่นํ้า ขณะเดียวยังได้ทำงานรณรงค์ร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ ให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้การเก็บขยะคัดแยกขยะ เพื่อสร้างจิตสำนึกพลเรือนในระยะยาวต่อไป
“กระทงจาน” อีกทางเลือกในการลอย
ประเพณีลอยกระทงยังเป็นเรื่องราวที่ต้องสืบสาน ถือว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย แต่ในภาวะโลกเดือดต้องปรับตัว
สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้นำเสนอลอยกระทงจาน มีที่มาจากถิ่นเมืองด้ง ต.บ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มาจัดแสดงผลงานเกี่ยวกับ “ประเพณีลอยกระทงสร้างสรรค์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ณ วัดอรุณราชวราราม โดยทุกคน
สามารถนำกระทงจานไปลอยได้ฟรีในแหล่งนํ้าแบบปิดที่ทางผู้จัดงานเตรียมไว้ให้
รศ.ดร.เปรม สวนสมุทร รองผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา เล่าว่า ปี พ.ศ. 2512 ต.บ้านตึก เกิดปรากฏการณ์นํ้าในลำคลองเน่าเสีย อีกฝั่งคลองที่เป็นนาข้าวก็มีกระทงส่วนหนึ่งลอยไปติดนาข้าวทำให้นาข้าวของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ต่อมา พ.ศ. 2514 ชาวบ้านภูนกจึงแก้ปัญหาด้วยการนำจานมาลอยเป็นกระทง ในกระทงจานจะมีดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู เพื่อบูชาและขอขมาพระแม่คงคาตามประเพณี โดยได้จัดการบูชากระทงจานใบละ 2 บาท เมื่อจบงานประเพณีก็จะเก็บกระทงจานมาบริจาคให้แก่วัดเพื่อนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาก็แพร่หลายไปทั้งตำบลและถือปฏิบัติต่อกันเป็นประจำทุกปี
จนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองด้ง ยังคงสืบสานประเพณีลอยกระทงจานเมืองด้ง เป็นประจำทุกปี โดยนอกจากกิจกรรมลอยกระทงจานที่ระลึกถึงคุณค่าของแม่นํ้าลำคลองแล้ว มีงานสนุกสนานรื่นเริงสำหรับชาวชุมชนและนักท่องเที่ยว ทั้งขบวนแห่กระทงจาน ขบวนผ้าป่า ขบวนรำวง การแสดงจุดพลุดอกไม้ไฟ การแสดงบนเวที รำนางโยน รำพัตรานารีศรีเมืองด้ง การแสดงดนตรีไทยของนักเรียนโรงเรียนเมืองด้งวิทยาและโรงเรียนบ้านตึก และจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น และสินค้าชุมชน
ลอยกระทงจะเป็น “มรดกโลก” ต้องยั่งยืน
รศ.ดร.เปรม เล่าต่อว่า ขณะนี้สถาบันไทยศึกษา กำลังจัดทำข้อมูลประเพณีลอยกระทงเพื่อนำเสนอต่อการพิจารณาของยูเนสโก เพื่อให้ประเพณีลอยกระทงถูกบรรจุเป็นมรดกโลก ซึ่งการสืบสานประเพณีต้องสอดคล้องกับเรื่องความยั่งยืน เป็นเทรนด์ของโลก ดังนั้น
จะต้องส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมลอยกระทงรักษ์โลก ซึ่งไอเดียการลอยกระทง “Won Phen กระทงไร้ขยะ ใช้ซํ้าไม่รู้จบ” เปิดตัว
เป็นปีแรก และหวังว่าจะได้รับเสียงตอบรับจากประชาชน ขณะเดียวกัน “กระทงจาน” ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับประเพณีลอยกระทง ที่ไม่สร้างขยะให้กับแหล่งนํ้า อยู่ในบ่อระบบปิด ที่ผู้จัดงานสามารถเก็บกลับขึ้นมาใช้ซํ้าได้ทุกปี
ใครเบื่อกระทงออนไลน์ ลองไปทดลองลอยกระทง “กระทงวน” “กระทงจาน” รับรองกระทงไม่หลงทางไปทำร้ายแม่นํ้าลำคลอง.