จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า “รถ 2 คันนี้ จอดทิ้งตายมานานมากๆ ตรงท้ายซอย 8/9 ที่สำหรับกลับรถ พร้อมกับเลี้ยงนกพิราบอีกฝูงใหญ่ๆ ขึ้นกเต็มไปหมด ตากผ้าก็ไม่ได้ ไวรัสคงจะปลิวว่อนไปหมด หายใจไม่สะดวก ใครมีวิธีแก้ไขช่วยแนะนำด้วย แต่อย่าบอกนะว่าต้องคุยกับเจ้าของ คงคุยกันไม่รู้เรื่องเป็นแน่แท้” โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านพักย่าน ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว บริเวณหน้าบ้านมีรถยนต์เก๋ง 1 คัน และรถตู้ 1 คัน จอดอยู่ ซึ่งสังเกตเห็นว่าพบขี้นกพิราบเต็มหลังคารถทั้ง 2 คัน มีนกพิราบบินไป-มา ที่หน้าบ้านและในรั้วบ้าน โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามเรียกถามคนในบ้าน พบเป็นผู้ชาย 1 ราย เดินออกมาแต่ไม่พูดอะไร แล้วเดินกลับเข้าบ้านไป

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (12 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขาภิบาลและคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนนทบุรี ได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบที่เกิดเหตุและพยายามตะโกนเรียกเจ้าของบ้านที่ให้อาหารนกพิราบ ที่อยู่ภายในบ้าน แต่ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างใด วันนี้จึงได้ติดประกาศคำสั่งบันทึกการตรวจด้านสาธารณสุขไว้บริเวณประตูรั้วบ้าน และให้เข้าไปพบภายใน 7 วัน

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่รายหนึ่ง กล่าวว่า ตรงบ้านที่มีนกพิราบ หากนั่งไปซักพัก นกพิราบก็ขี้ใส่หัวและกลิ่นแรงมาก ฝูงนกพิราบมาเอง คนในซอยบ่นเรื่องกลิ่นและเชื้อโรคกันทุกราย ส่วนเจ้าของบ้านเป็นคนพูดจาดี มีพูดคุยกันบ้างบางครั้ง แต่เขาไม่ค่อยสุงสิงกับใคร

ด้าน นายปลายพิสุทธิ์ ปกาศิตอนันท์ หัวหน้าฝ่ายสุขาภิบาลและคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนนทบุรี กล่าวว่า จำนวนนกพิราบที่มีเพิ่มมากขึ้น เกิดจากการให้อาหารนกพิราบทุกวัน ทำให้นกมาจับกลุ่มรวมกันอยู่ตรงนี้ นกพิราบเป็นสัตว์พื้นถิ่น การให้อาหารนกพิราบเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข เราสามารถสั่งให้หยุดการกระทำได้ วันนี้เราได้มาลงพื้นที่ และเรียกเจ้าของบ้านแต่ไม่ยอมออกมา

จากการสอบถามทราบว่า ลูกชายของเจ้าของบ้านออกไปทำงาน น่าจะคุยกับลูกชายได้ ขั้นตอนต่อไป วิธีการทำงานของทางเทศบาล จะดำเนินการแปะคำสั่งการตรวจด้านสาธารณสุข ให้เจ้าของบ้านรับทราบว่าทำผิดอะไร และไปพบเจ้าหน้าที่ภายใน 7 วัน หากไม่ไปพบจะพิจารณาดำเนินคดีต่อไป

โดยทั่วไป การที่มีสัตว์มาสะสมเยอะ ๆ จำนวนมาก เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโรค เมื่อปี พ.ศ. 2564 เราได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบครั้งหนึ่งแล้ว และเจ้าของบ้านไม่ให้ความร่วมมือ มีอาการฉุนเฉียวไม่รับคำสั่งเรา ทางตนก็ได้รายงานไปทางเทศบาลว่าได้ให้คำแนะนำไปแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการร้องเรียนอีกเลย โดยปกติแล้วทางเทศบาลจะมีประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนมาประมาณปีละ 4-500 เรื่อง ตนเพิ่งได้ดูข่าว จึงเห็นว่ายังมีปัญหานี้อยู่ และชาวบ้านได้ร้องเรียนผ่านสื่อ จึงลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบ.