สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ว่า กลุ่มนักวิจัยเปิดเผยการประเมินที่ครอบคลุมที่สุด เกี่ยวกับสถานะของช้างแอฟริกา 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ช้างสะวันนาแอฟริกา และช้างป่าแอฟริกา โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจประชากรในพื้นที่ 475 แห่ง ใน 37 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2507-2559
ผลการประเมินแสดงให้เห็นว่า ประชากรช้างสะวันนาแอฟริกา ลดลงประมาณ 70% โดยเฉลี่ยในพื้นที่สำรวจ ส่วนประชากรช้างป่าแอฟริกา ลดลงประมาณ 90% โดยเฉลี่ยในพื้นที่สำรวจ ซึ่งในภาพรวม ประชากรช้างแอฟริกาทั้งสองสายพันธุ์ลดลง 77% โดยเฉลี่ย ในพื้นที่สำรวจหลายแห่ง
แม้ช้างจำนวนมากหายไปในบางพื้นที่ แต่ประชากรของพวกมันก็เพิ่มขึ้นในสถานที่อื่น ๆ เช่นกัน เนื่องจากความพยายามในการอนุรักษ์
“ประชากรช้างที่หายไปเป็นจำนวนมาก จะไม่กลับมาอีก และประชากรช้างที่มีความหนาแน่นต่ำ เผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราน่าจะสูญเสียประชากรช้างมากขึ้นในอนาคต” นายจอร์จ วิตเทไมเออร์ ศาสตราจารย์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า จากมหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด กล่าว
อนึ่ง สาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนช้างแอฟริกาลดลง คือ การลักลอบล่าสัตว์ ซึ่งผู้กระทำผิดมักจะฆ่าช้างเพื่อเอางา และนำไปขายอย่างผิดกฎหมายในตลาดมืดระหว่างประเทศ อีกทั้งการขยายตัวทางการเกษตร ก็เป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลให้ช้างสูญเสียที่อยู่อาศัยด้วย
“เราสูญเสียประชากรช้างจำนวนมากในหลายประเทศ แต่ประเทศในภูมิภาคซาเฮล ทางตอนเหนือของแอฟริกา เช่น มาลี, ชาด และไนจีเรีย ได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นพิเศษ ซึ่งแรงกดดันสูง และการคุ้มครองที่จำกัด ทำให้ประชากรของสัตว์ชนิดนี้หายไปจนหมด” วิตเทไมเออร์ กล่าวทิ้งท้าย.
เครดิตภาพ : AFP