นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เร่งศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของรูปแบบ และวิธีการดำเนินมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น(Congestion Charge) ตลอดจนพื้นที่ที่จะจัดเก็บ อัตราค่าธรรมเนียมฯ การชำระเงิน และผลที่ได้รับจากการดำเนินงานดังกล่าวของประเทศต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 6 เดือน หรือประมาณภายในปี 68 นอกจากนี้อาจต้องจัดทำกฎหมายใหม่ เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบัน รัฐบาลไม่มีอำนาจในการจัดเก็บเรื่องนี้ เป็นอำนาจของกรุงเทพมหานคร(กทม.)

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจข้อมูลการจัดเก็บ Congestion Charge ในช่วงแรกบนสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า มีคนเห็นด้วย 60% ไม่เห็นด้วย 40% แต่พอช่วงหลังคนกลับไม่เห็นด้วยเยอะกว่ามาก สาเหตุมาจากยังไม่มีรายละเอียดการดำเนินงานที่ชัดเจนอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ จึงต้องเร่งนำข้อมูลมาทำความเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะขอบเขตว่าจะเก็บใครบ้าง พื้นที่ใด อาทิ คนที่อาศัยอยู่ในย่านที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ต้องเสียค่าธรรมเนียมฯ หรือไม่ ยืนยันว่าจะไม่จัดเก็บ ทั้งนี้รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมฯ จะนำเข้าสมทุบกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้ซื้อคืนรถไฟฟ้าทุกสาย ประมาณ 2 แสนล้านบาท และสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายด้วย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม

ด้านนายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ แล้วประสบความสำเร็จอย่างดี อาทิ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ, ประเทศสิงคโปร์, สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และมิลาน ประเทศอิตาลี ทำให้การจราจรติดขัดลดลง มีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น แม้ว่าก่อนเริ่มใช้มาตรการประชาชนจะมีเสียงคัดค้าน แต่เมื่อหลังเริ่มใช้ พบว่า ประชาชนสนับสนุน และยอมรับมากขึ้น ทั้งนี้ระบบการเก็บค่าธรรมเนียมแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป อาทิ สิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยีวิทยุระบุความถี่ (RFID) เพื่อเก็บค่าธรรมเนียมฯ โดยอัตโนมัติ จากยานพาหนะที่ติดตั้ง IU ที่ผ่านไปใต้ประตู ERP เป็นต้น

เบื้องต้นคาดว่าจะนำรูปแบบของลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย โดยโครงการ United Kingdom Partnering for Accelerated Climate Transitions (UK PACT) ได้ให้การสนับสนุนในการศึกษาพัฒนา ทั้งนี้ที่อังกฤษมีการเก็บข้อมูลจากประชาชนทั้งก่อน และหลังเริ่มดำเนินโครงการฯ โดยก่อนทำ มีการยอมรับ 39% แต่เมื่อเริ่มทำแล้วมีคนยอมรับเพิ่มเป็น 54% ทั้งนี้อังกฤษใช้ระบบกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (ANPR) เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง รัศมีขนาด 21 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.)

นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม

จัดเก็บในช่วงวันจันทร์–ศุกร์ เวลา 07.00-18.00 น. และวันเสาร์–อาทิตย์ เวลา 12.00 -18.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ จัดเก็บในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน (ประมาณ 658 บาท) ส่วนวิธีการชำระเงินนั้น สามารถชำระได้ในช่องทางแอปพลิเคชัน และออนไลน์ ซึ่งผลลัพธ์จากการเก็บค่าธรรมเนียมฯ พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 16% และมีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18% อย่างไรก็ตามการดำเนินงานเรื่องนี้ การสื่อสารกับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเก็บทำไม ใครจะโดนเก็บบ้าง และเก็บแล้วจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ประชาชนอังกฤษ ยอมรับมาตรการดังกล่าวมากขึ้น เพราะ รัฐบาลทำตามสัญญาที่แจ้งไว้กับประชาชนว่า เมื่อเก็บค่าธรรมเนียมฯ แล้ว จะนำรายได้มาพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ มีการเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้ามากขึ้นประมาณ 20% ทำให้ประชาชนสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง รวมทั้งไม่มีการปรับขึ้นค่าโดยสารด้วย จึงทำให้ประชาชนยอมรับมากขึ้น

นายกฤชนนท์ กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคม จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ เป็นธรรม และพร้อมรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ สนข. เคยศึกษาไว้บ้างแล้ว ก็ต้องเร่งทบทวนพิจารณารายละเอียดต่างๆ เบื้องต้นต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุม ได้รับความสะดวกในการใช้งาน และพร้อมรองรับการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะรอง(ฟีดเดอร์) เพื่อขนส่งผู้โดยสารมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะหลัก จะช่วยแก้ปัญหาการจราจร ลดมลพิษทางอากาศ และลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย