เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ อ.เกาะกูด จ.ตราด เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่า ตนไปตรวจเยี่ยมกำลังพลของกองทัพเรือ พร้อมกับสอบถามเรื่องราวต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลทางทะเลและทางบก รวมถึงนายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเกาะกูด ซึ่งพบว่าไม่มีอะไรน่ากังวลใจ ส่วนชาวกัมพูชาที่เข้ามามีไม่กี่ร้อยคน ซึ่งเขาถือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) และยื่นเรื่องขอกระทรวงแรงงาน เพื่อเข้ามาทำงานในฝั่งไทย ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนสบายใจได้ในเรื่องของเกาะกูด เพราะกองปฏิบัติการชายแดนบริเวณเกาะกูดมีความเข้มแข็ง ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักมาตรฐานสากล และทำหน้าที่ปกป้องดินแดนเกาะกูด ไม่ยอมเสียแผ่นดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว อีกทั้งกองทัพเรือยังสามารถดำเนินการและปกป้องอธิปไตยบริเวณเกาะกูดได้อย่างไม่มีปัญหา นอกจากนี้ นายทหารของทั้ง 2 ประเทศที่ดูแลพื้นที่ชายแดน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และฝ่ายกัมพูชายอมรับว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นของประเทศไทย เรื่องเกาะกูด จึงไม่มีประเด็นใดอีก
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กรณีที่ทั้ง 2 ประเทศ จะมีการเจรจาพูดคุยกันตามกลไกในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ฉบับปี 2544 ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดินแดน แต่มีเพียงการดำเนินการในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจกัน หรือยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน
เมื่อถามถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะกูด นายภูมิธรรม กล่าวว่า หลังจากตอนที่เกิดเรื่องใหม่ๆ ยอดจองที่พักโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะกูด ลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว สถานการณ์การท่องเที่ยวและปริมาณนักท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะกูดขณะนี้ดีขึ้น แต่ตามปกติ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศไม่ได้มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว แต่กรณีของนักท่องเที่ยวชาวไทย มีบางส่วนที่ไม่มั่นใจว่ากรณีที่ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องชายแดน จะเป็นอันตรายต่อการท่องเที่ยวหรือไม่ แต่หลังจากการพูดคุยชี้แจงต่อสาธารณะแล้ว ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องเกาะกูดจะจบอย่างไร เพราะอีกฝ่ายยังออกมากระทุ้ง นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็จบตามกระบวนการ ฝ่ายที่กระทุ้งก็กระทุ้งไป เพราะประเด็นนี้ยังไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่เขายังไม่เข้าใจในสิ่งที่เป็นจริง ขณะที่เราพยายามชี้แจง และจำเป็นต้องมีคณะกรรมการตามกรอบที่กำหนด ถ้าได้รับฟังผู้ที่เป็น รมว.การต่างประเทศ ในแต่ละสมัย กองทัพเรือ และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลพื้นที่นี้อยู่ ก็จะมีความเข้าใจชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับอธิปไตย ดังนั้น การที่จะไปพูดอะไรอย่างไร ก็คงไม่มีความหมายอะไร เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าต้องรอดูผลการเจรจาก่อนจะจัดสรรที่ดินใดๆ อย่าใช้จินตนาการมาพูดจนกลายเป็นปัญหา ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศมีต่อประเทศไทย
เมื่อถามว่าการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (เจทีซี) ฝ่ายไทย จะชัดเจนเมื่อไหร่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า นายกฯ เคยพูดว่าจะมีความชัดเจนหลังจากนายกฯ กลับมาจากต่างประเทศ ตนเชื่อว่าทุกอย่างไม่น่าจะมีปัญหา โดยเราเปิดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้ขอให้ทุกฝ่ายได้ทำงาน และขอให้ทุกคนไปดูเรื่องอื่นดีกว่า เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไร อย่าไปพูดให้เป็นประเด็นโดยไม่มีมูลเหตุใดๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการโต้แย้งในเรื่องเกาะกูดและเอ็มโอยูดังกล่าว จะทำให้คณะกรรมการเจทีซีทำงานลำบากขึ้นหรือไม่ และการเจรจาจะสะดุดอีกครั้งหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ยืดเยื้อและไม่สะดุดแน่นอน เพราะในระบอบประชาธิปไตย แม้จะเป็นเสียงเดียวหรือสองเสียง ก็สามารถแสดงออกได้ แต่ต้องดูเสียงส่วนใหญ่และผลประโยชน์ของประเทศ อีกทั้งขออย่าให้คนเพียงไม่กี่คนหรือบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ ทำให้เกิดประเด็นที่จะขัดกับปัญหาของประเทศที่ควรจะต้องแก้ไข
เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์ว่าเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น เป็นเพราะประชาชนบางส่วนยังไม่ไว้วางใจรัฐบาลเท่าที่ควร นายภูมิธรรม ย้อนถามว่า “ประชาชนส่วนไหน เพราะก็มีไม่กี่ส่วนนี่แหละ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เกาะกูด เขายังรู้สึกไม่ดีเลยว่า ทำไมพูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และมันกระทบกระเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ฉะนั้นผมคิดว่ารอให้มีผลการเจรจาออกมาก่อน จากนั้นค่อยมาถกเถียงกัน”
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวล่าสุด ที่อ้างว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการดีลลับกับสมเด็จ ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีแห่งกัมพูชา นายภูมิธรรม กล่าวด้วยน้ำเสียงขึงขังว่า ไม่มีดีลลับอะไรทั้งนั้น คนไม่มีบทบาท ไม่มีหน้าที่จะเข้าไปดีลลับได้อย่างไร ยังไม่ตั้งคณะกรรมการเลย จึงต้องรอคณะกรรมการทั้ง 2 ฝ่ายคุยกัน ซึ่งคณะกรรมการมาจากหลายส่วน