วันที่ 11 พ.ย. จะมีการประชุมคัดเลือกประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ หลังจากที่เลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 4 พ.ย. โดยมีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ เพื่อคัดเลือก 1 ใน 3 รายที่เป็นแคนดิเดต
สำหรับรายชื่อแคนดิเดตประธานกรรมการแบงก์ชาติมี 3 ราย
- “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เสนอโดยกระทรวงการคลัง
- “กุลิศ สมบัติศิริ” อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เสนอโดยแบงก์ชาติ
- “สุรพล นิติไกรพจน์” ศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอโดยแบงก์ชาติ
ประวัติและประสบการณ์การทำงาน “กิตติรัตน์” อายุ 66 ปี เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”, ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (สมัยเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ), อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร, ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเคยเป็นกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ส่วน “กุลิศ” อายุ 61 ปี เคยนั่งปลัดกระทรวงพลังงาน, อธิบดีกรมศุลกากร, ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งถือเป็นลูกหม้อกระทรวงการคลังคนหนึ่ง มีความรู้ด้านการเงิน การคลังอยู่เป็นทุนเดิม
ขณะที่ “สุรพล” มีอายุ 64 ปี มาจากสายวิชาการ เคยนั่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรรมการกฤษฏีกา เป็นต้น
ด้าน “ดร.วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Veerathai Santiprabhob ระบุว่า ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ
candidate ชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง ก็ไม่สมควรครับ
ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงค์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้
ต่อไปเราคงเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก ในอนาคตนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วยก็ได้ครับ
“11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่ายครับ”
รายงานข่าว ระบุว่า จาก 3 รายชื่อที่ถูกเสนอมา ตัวเต็งคงจะหนีไม่พ้น “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” แต่ทว่ามีกระแสต่อต้านและข้อครหาค่อนข้างมาก เพราะมาจากสายการเมืองโดยตรง ทำให้ยังเป็นข้อกังขาเกี่ยวกับคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้ามาคุมแบงก์ชาติ โดยเฉพาะคุณสมบัติเกี่ยวกับการเมือง ระบุว่า ต้องไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษา เช่น หากเคยต้องโทษพิพากษาให้จำคุกก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่ง “กิตติรัตน์” เคยเป็นสมาชิก กรรมการบริหารพรรคการเมือง และยังเป็นที่ปรึกษาของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน
นอกจากนี้ “กิตติรัตน์” ยังมีเรื่องที่คณะกรรมการสรรหาต้องพิจารณารอบคอบ คือ เรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือถึงสำนักอัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ในคดีที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง กิตติรัตน์ สมัยนั่ง รมว.พาณิชย์ ไม่สั่งให้มีการตรวจสอบการระบายข้าวเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว หรือที่รู้จักกันในคดีข้าวบูล็อค