เรื่อง MOU 44 เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ( OCA ) ก็ยังมีปัญหาเขย่ารัฐบาล ยังพูดกัน “คนละฝ่าย” ว่าไทยจะเสียอธิปไตยทางทะเล ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่า “ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจาก่อน” ที่พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ได้จัดแถลงข่าวในหัวข้อ “MOU 44 ภาคต่อ EP 2” นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า อาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดได้ถูกละเมิด ลากเส้นอาณาเขตทางทะเลกินพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของเกาะกูดผิดหลักกฎหมายสากล เจนีวา 1982 หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 อีกทั้งเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่มีขนาดใหญ่เกินจริง

“การเจรจาบนเส้นอาณาเขตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงบนหลักกฎหมายสากลดังกล่าว จะทำให้ไทยเสียเปรียบ หากมีข้อพิพาทในอนาคต ก็สุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเล นอกจากนั้น MOU44 ทำด้วยความเร่งรีบในปี 2544 พบข้อบกพร่องของเอกสารสำคัญแนบท้าย” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการพรรค กล่าวว่า พปชร. ตั้งข้อสังเกตว่า กัมพูชาเป็นคู่เจรจาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล การลากเส้นเขตแดนทางทะเลเกินสิทธิ์ของกัมพูชา ทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทับทะเลอาณาเขตชิดเกาะกูด และทับเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทย

“รัฐบาลอธิบายว่า MOU 44 ไม่ปรากฏข้อความไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่เส้นดังกล่าวไปปรากฏในแผนที่แนบท้าย แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ ว่า ยอมรับ แต่แผนที่คือเอกสารราชการที่แสดงการรับรู้รับทราบเส้นของกัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏบนเอกสารราชการไทยมาก่อนปี 2544 เลย การรับรู้เส้นเขตแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสารราชการไทย ก็ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ ถือว่าทำให้ไทยเสียหาย” ชายกร กล่าว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า หากยอมให้มีการขุดปิโตรเลียมและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน 50% ระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อใด จะเป็นหลักฐานสำคัญว่า ไทยยอมรับสิทธิอธิปไตยของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และมีความเสี่ยงที่จะถูกนำขึ้นสู่ศาลโลกเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กัมพูชา 13,000 ตร.กม. ต่อไปในอนาคต จึงควรยกเลิก MOU 2544 แล้วทำ MOU ฉบับใหม่กับกัมพูชา โดยยึดแนวทางที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย ที่เจรจาจนพื้นที่ทับซ้อนเหลือน้อยที่สุด แล้วทำ MOU บริหารจัดการ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ตนเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ตอบคำถามว่า 1.ได้มีหนังสือท้วงติงกัมพูชาหรือไม่ว่า เส้นดังกล่าวผิดกติกาสากล 2.กต.เคยแจ้งปัญหานี้ให้รัฐบาลไทยชุดใดรับทราบหรือไม่ 3.กต.เสนอให้รัฐบาลทำ MOU โดยเอาเส้นของกัมพูชาที่ กต.รู้ดีอยู่แล้วว่าผิดกติกาสากลไปแสดงไว้ทำไม

“MOU ที่เป็นธรรมต้องเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน แต่ กต.กลับตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมที่ผิดกติกาสากลเพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง การที่ กต.ไม่ได้เปิดเผยต่อรัฐบาลเป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลเดินหน้าเจรจาในกรอบที่ผิดกติกาสากลมาตลอด” นายธีระชัย กล่าว

ส่วนท่าทีของ “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังยืนยันว่า ต้องเดินหน้าเจรจาต่อไป ยกเลิกทำได้แต่ไม่ควรทำฝ่ายเดียวเพราะจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งหลังจากประชุมเอเปคที่เปรูเสร็จในวันที่ 18 พ.ย. ก็จะตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิค (JTC) เรียบร้อย ซึ่งได้บอกกับทางกัมพูชาแล้ว

“จากการเจอกับฮุน มาเน็ต นายกฯ กัมพูชาครั้งไปประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ก็ไม่มีอะไรเลย เขายังพูดว่ามีอะไรให้ทางกัมพูชาสนับสนุนไทยก็ให้บอกกันมา เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร การขีดเส้นของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกันจึงต้องเกิดเอ็มโอยู 44 ขึ้นเพื่อเป็นการหารือให้เข้าใจกันในความที่ไม่เหมือนกัน”

“บิ๊กอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ยืนยันว่า MOU44 คือการพูดคุยเรื่องการขยายไหล่ทวีป เป็นข้อตกลงกันแต่ไม่จำเป็นต้องเข้าสภา ถ้าหลังจากตกลงอะไรกันเรียบร้อยแล้ว หากมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาก็จะต้องเข้ารัฐสภาอีกครั้ง

เมื่อถามว่า กองทัพเรือได้เผยแพร่คลิปผ่านโซเชียล ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย พื้นที่โดยรอบ 200 ไมล์ทะเล ต้องเป็นของประเทศไทยด้วยตามกฎหมาย UNCLOS นายกฯอิ๊งค์ ตอบว่า จะให้เลขาธิการนายกฯส่งแผนที่ให้เห็นว่าเขาแบ่งกันอย่างไร จะได้เห็นว่าเส้นปี 2515 ที่กัมพูชาขีด และ 2516 ที่เราขีดไม่เหมือนกัน แต่ที่ทางกัมพูชาขีดเขาได้เว้นอ้อมเกาะกูดของเราชัดเจน เขาไม่ได้อยากจะเป็นปัญหา เรื่องนี้ต้องให้ชัดเจนก่อนการเจรจาผลประโยชน์ใต้ทะเล

เรื่องนี้เป็นโจทย์ให้รัฐบาลคิดหนักว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะไม่ปลุกกระแสชาตินิยม จนกลายเป็นเรื่องให้บุคคลที่สามเข้ามาแทรกแซงกิจการระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ในอนาคต

ส่วนการเมืองอื่นๆ ที่อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 67 และกล่าวบรรยายหัวข้อวิชา “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ตอนหนึ่งว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆและที่สำคัญเทคโนโลยีเอไอต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เราต้องเตรียมพร้อมรับมือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลเตรียมในเรื่องของการรับมือกับปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว

“หลายท่านอาจจะคิดว่าจีนจะเอาสินค้าเข้ามาขายทำให้คนไทยไม่มีที่ยืน ไม่มีตลาดสำหรับการขายสินค้า แต่ว่าความจริงแล้ว จีนเองก็ยังต้องการสินค้าเกษตรจากไทยอย่างมาก ฉะนั้นเรายังมีทางออกของเรา รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกและพัฒนาในเรื่องของเกษตรให้แข็งแรง พร้อมที่จะส่งออกให้กับจีน นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างหนี้หรือช่วยในเรื่องของหนี้ ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเศรษฐกิจให้ดีขึ้น สิ่งสำคัญ คือ การหารายได้ใหม่ให้ประเทศ รัฐบาลจึงสนับสนุนในเรื่องของซอฟพาวเวอร์ เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพใหม่ๆ เพื่อให้เราหลุดกับดักรายปานกลางเป็นสู่รายได้สูง อีกอย่างที่รัฐบาลจะผลักดันต่อคือการเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็น 30% ของจีดีพีในปี 2573” นายกฯ กล่าว

น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมเดินสายลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อช่วยนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุดรธานี ของพรรคเพื่อไทยหาเสียงในวันที่ 13-14 พ.ย.นี้ ว่า คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยใครก็ได้ เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้เป็นผู้ช่วยสนับสนุนได้ ไม่มีอะไรน่าห่วงในเรื่องนี้

“แต่คุณพ่อก็อายุ 75 แล้ว ก็ไม่อยากให้เป็นหน้าที่ของเขาเลย คุณพ่อมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจังหวัดต่างๆ และอยู่ในการเมืองมานาน อย่าไปถือว่าเป็นหน้าที่ หรือสิ่งที่เขาจะต้องทำ เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปเยอะน้อยแค่ไหน จากนี้หากมีเลือกตั้ง อบจ.อย่าไปมอบหน้าที่ให้ท่านหาเสียงทุกเวที เรื่องที่จะไปอุดรธานีก็เพิ่งทราบเพราะคุณพ่อไม่ได้บอก ส่วนที่เดินทางไปต่างประเทศ เกือบทุกประเทศก็ถามถึงอดีตนายกฯทักษิณ” นายกฯ กล่าว

อีกเรื่องหนึ่ง ที่กระทรวงแรงงาน “โกเกี๊ยะ” พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ที่ต้องเลือกกรรมการอีก 2 คนแทนคนที่พ้นตำแหน่ง ว่า ยืนยันว่า การดำเนินปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะเเล้วเสร็จทันวันที่ 1 ม.ค. 2568 อย่างแน่นอน กระทรวงแรงงานได้ประสานไปยังนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง เรื่องการส่งชื่อผู้แทนเข้ามาเป็นกรรมการค่าจ้างฯ แล้ว ส่วนของกระทรวงแรงงานจะทำการเสนอชื่อผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นกรรมการ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.

“หากเสนอ ครม.ได้ในวันที่ 12 พ.ย. คาดว่า จะมีการนัดคณะกรรมการไตรภาคี ทั้ง 15 คน อย่างเร็วที่สุดช่วงปลายเดือน พ.ย. เพื่อมาประชุม หรืออย่างช้าที่สุด ก็จะประชุมในช่วงต้นเดือน ธ.ค. เป็นครั้งแรก หากสามารถประชุมเสร็จจบ ก็จะประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท บวกกับค่าแรงโดยบุคคลหรือสาขาอาชีพที่ยังไม่ขึ้นถึง 400 บาท ใน 76 จังหวัดบวกกรุงเทพมหานคร มั่นใจว่า จะสามารถให้เป็นของขวัญปีใหม่ได้” รมว.แรงงาน กล่าว

“ทีมข่าวการเมือง”