เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ. ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว ภายหลังจากนายชูศักดิ์ เสนอรายงานเสร็จแล้ว ก็เปิดให้สมาชิกอภิปราย
โดย สส.พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวสนับสนุนให้นิรโทษกรรม รวมถึงคดีมาตรา 112 ด้วย อาทิ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน อภิปรายว่า ในประเด็นของมาตรา 112 ที่ กมธ. วางแนวทางให้เป็นคดีอ่อนไหวทางการเมือง เชื่อว่าจะเป็นตีกรอบการนิรโทษกรรมที่คับแคบเกินไป ทั้งที่ควรเปิดกว้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลคือกีดกันคดีดังกล่าวออกจากการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ดี หากต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความสามัคคี ต้องมัดรวมการนิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 ด้วย
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 110 และมาตรา 112 โดยนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นเกี่ยวกับมาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ฉะนั้นเราจึงยังมีเวลาหาฉันทามติกรณีดังกล่าว
ด้านนายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ไม่ได้แยกแยะว่าอะไรนิรโทษกรรมได้หรือไม่ได้ คนภูมิใจไทยทุกคนประกาศชัดเจนว่ายอมยกโทษให้ทุกกรณี ยกเว้นกรณีการยกเลิกมาตรา 112 หากมีการผ่านรายงานฉบับนี้ไปยัง ครม. จะมีการตรากฎหมายออกมา โดยอ้างว่าเป็นมติของสภาที่ผ่านการเห็นชอบของรายงานฉบับนี้แล้ว จะออกเป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อนิรโทษกรรมในการกระทำที่ล่วงละเมิดสถาบันพระกษัตริย์ โดยเฉพาะ มาตรา 110 และมาตรา 112 ยืนยันว่าคนของภูมิใจไทย จะไม่เป็นมิตรและไม่ยินยอมในการกระทำครั้งนี้ เราจะจงรักภักดีต่อและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ถึงที่สุด
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบรายงานฉบับนี้แล้วให้ส่งรัฐบาลดำเนินการ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เห็นชอบ การนิรโทษกรรมถ้าจะมีในอนาคตควรยืนบนหลักการ 5 ข้อ คือ 1.ต้องเป็นการนิรโทษกรรมที่นำไปสู่การสร้างความปรองดอง เป็นความเห็นพ้องต้องกันของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในอนาคตอีกต่อไป 2.ต้องไม่นิรโทษกรรมเพื่อตัวเอง เพราะถ้าทำเช่นนี้สุดท้ายก็จะไปไม่รอด จะเกิดแรงต้านครั้งใหญ่ และนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหม่เกิดขึ้นอีก ดังเช่นที่เราเคยได้รับบทเรียนตอนพยายามจะผลักดันนิรโทษกรรมสุดซอยในอดีต สุดท้ายก็ไปไม่รอด 3.ต้องไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจหรือหัวเชื้อให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีกในอนาคต 4.จะมีต้องไม่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ 5.การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมความผิด 3 ฐานสำคัญ คือ ทุจริตคอร์รัปชั่น คดีอาญาร้ายแรง และมาตรา 110 และมาตรา 112
“ผลจากรายงานและข้อสังเกตของ กมธ. หากผ่านสภา จะไปเป็นสารตั้งต้นในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112 ได้ และหากสภาเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ สภาอาจกลายเป็นตราประทับความชอบธรรมในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ในอนาคตได้ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้” นายจุรินทร์ กล่าว
ด้านนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ชี้แจงว่า สำหรับมาตรา 110 และมาตรา 112 ไม่ได้เป็นคดีหลักและคดีรอง แต่เป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยในรายงานก็ยืนยันไว้เช่นกัน นอกจากนี้ กมธ. ไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมสำหรับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 เพียงแค่ศึกษาว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร เนื่องจากยังมีความเห็นต่างอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 กมธ. จึงไม่พึงประสงค์ที่จะมีการลงมติว่า กมธ. ส่วนใหญ่มีความเห็นอย่างไร เพราะจะถือว่าไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นและความเชื่อของ กมธ. ได้ แต่ได้เปิดโอกาสให้ กมธ. แต่ละคนแสดงความคิดเห็นไว้
นายนิกร กล่าวต่อว่า ดังนั้นแนวทางที่เสนอมาจึงแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 เห็นด้วยว่าควรรวมการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 แนวทางที่ 2 ไม่เห็นด้วยว่าควรรวมการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 และแนวทางที่ 3 เห็นด้วยว่าควรรวมการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 แต่ให้มีเงื่อนไข ซึ่งส่วนตัวตนก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 นอกจากนี้ ยังมีความเห็นที่ระบุว่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายออาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติในความผิด ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่ามีความผูกพันทุกองค์กร และมีบางฝ่ายมองว่าอาจจะเกิดความขัดแย้ง
“ผมเชื่อว่าหากมีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามาแล้วรวมความผิดมาตรา 112 ด้วยนั้น จะไม่ผ่านและถูกร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญ ในฐานะ กมธ. จากพรรคชาติไทยพัฒนา เรามีความเห็นเป็นมติว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เช่นเดียวกับหลายพรรคที่ได้ให้ความเห็นไว้ใน กมธ. ย้ำว่าในข้อสังเกตก็ระบุไว้ชัดว่ามาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว และรายงานนี้เป็นเพียงแค่การสรุปความเห็นของสมาชิกเท่านั้น” นายนิกร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ สส. อภิปรายแสดงความคิดเห็นครบทุกพรรคแล้ว นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวสรุปว่า เนื่องจากรายงานของคณะ กมธ. มีความเห็นแตกต่างกันจำนวนมาก และ กมธ. ได้ชี้แจงแล้ว ทำให้เข้าใจกันทุกฝ่ายแล้ว
จากนั้นนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ทักท้วงว่าเราอยู่ในระบบรัฐสภา เมื่อเรื่องใดเห็นไม่เหมือนกันก็ต้องลงมติ ซึ่งฝ่ายค้านพร้อมลงมติรายงานฉบับนี้ และดูจากจำนวนคนแล้วครบองค์ประชุมแน่นอน อย่างไรก็ตาม เราควรจะให้โอกาส กมธ. ชี้แจง จึงขอให้ประธานดำเนินการตามระเบียบวาระ
ขณะที่ซีกรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย แสดงความพร้อมที่จะลงมติ แต่ยังปรากฏว่าทาง กมธ. จะขอชี้แจงต่อ ซึ่งประธานที่ประชุมพยายามไกล่เกลี่ยขอไม่ให้ กมธ. ชี้แจง เพราะยังมี กมธ. อีกหลายคน ไม่ใช่นั้นจะไม่จบ อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ. ยังไม่ทันจะได้แสดงท่าที นายพิเชษฐ์ก็ได้สั่งปิดการประชุมทันที ในเวลา 16.58 น. แม้จะมีสมาชิกตะโกนทักท้วง แต่นายพิเชษฐ์ไม่สนใจ ทำให้ญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาศึกษาปัญหาและการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันธุรกิจอันเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ที่ต่อคิวอยู่ ต้องเลื่อนออกไปพิจารณาในสัปดาห์หน้าด้วย.