เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 ต.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ. ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว
โดยนายชูศักดิ์ กล่าวถึงรายงานตอนหนึ่ง ว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิกความผิด การกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่สมควรเป็นการยกเลิกความรับผิด แก้ปัญหาขัดแย้งในบ้านเมืองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้การตรากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือให้ประเทศเดินหน้า ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรม 23 ฉบับ สำหรับรายงาน กมธ. เป็นการศึกษาแนวทางการตรากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาหรือยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีข้อเสนอแนะแนวทางหากมีการยกร่าง หรือตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไปว่า ควรหรือไม่ควรรวมการกระทำ ที่เป็นประโยชน์ที่ต่อประเทศชาติโดยรวม
“กมธ. เสนอความเห็นในทุกมิติ เพื่อให้สภาศึกษา เรียนรู้รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน แม้รายงานเป็นการศึกษาแนวางการตรา พ.ร.บ. แต่ได้เสนอแนะแนวทางอื่นๆ เพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีของสังคมไทย เช่น ขอพระราชทานอภัยโทษ แนวทางล้างมลทิน การชะลอการฟ้อง สั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธาร และตรา พ.ร.บ. ที่มีเงื่อนไขตามกระบวนการที่เกิดขึ้น” นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวถึงสาระของรายงาน กมธ. ว่า ควรกำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรม ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน การกระทำที่ควรได้รับนิรโทษกรรม เน้นมูลเหตุที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง โดย กมธ. แยกในคดีหลัก เช่น ฐานะเป็นกบฏ การกระทำในคดีรอง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน และแยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองออกมาพิจารณาเฉพาะ โดยแสดงเหตุผลทุกมิติ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงการแสวงหามาตรอื่นๆ เช่น การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข สำหรับรูปแบบการนิรโทษกรม กำหนดให้เป็นการนิรโทษกรรมแบบอัตโนมัติ มีคณะกรรมการพิจารณาและผสมผสาน ทั้งนี้กรณีตั้งกรรมการนั้น เนื่องจากช่วงเวลาของเหตุการณ์ซึ่งมีคดีที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เมื่อมีคณะกรรมการพิจารณาจะทำให้การนิรโทษกรรมถูกต้องเป็นธรรม
นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า มีการเสนอแนะแนวทางการตรา พ.ร.บ. อาจทำเป็นหลายฉบับเพราะเหตุการณ์ หรือพฤติกรรมของการกระทำนั้นแตกต่างกัน สำหรับข้อสังเกตของ กมธ. นั้น มีหลายแนวทางเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและคาม.รับไปดำเนินการ เช่น การอำนวยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 110 และ มาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของ กมธ. ไม่ได้บังคับหรือผูกมัด ครม. ที่จะดำเนินการตามที่เสนอ
“รายงานนี้ขอเลื่อนการพิจารณา 2-3 ครั้ง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่าไม่ใช่การพิจารณา พ.ร.บ. แต่เป็นการศึกษาของ กมธ. ที่ได้รับมอบหมาจากสภามอบหมาย ดังนั้นที่ประชุมควรรับทราบรายงาน เพื่อนำผลการศึกษาไปพิจารณาประกอบกับการยกร่างกฎหมายในอนาคต” นายชูศักดิ์ กล่าว.