สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ว่า นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวถึงการที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน นำเสนอ “แผนแห่งชัยชนะ” ต่อสภาแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ว่า “แผนสันติภาพเดียวที่เหมาะสมกับรัฐบาลเคียฟ คือการต้องยอมรับความเป็นจริงของนโยบายที่กำลังดำเนินอยู่ว่า ไร้ประโยชน์ และความจำเป็นของการต้องมีสติ”


ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ ว่าแผนการที่เซเลนสกีนำเสนอ “เป็นปัญหาสำหรับยูเครนและชาวยูเครนเอง”


ทั้งนี้ รัฐบาลมอสโกยืนกราน ว่ายูเครนต้อง “เสียสละ” ภูมิภาคดอนบาส หรือภาคตะวันออกของประเทศ และพื้นที่บางส่วนทางใต้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของ “การเจรจาสันติภาพ”


สำหรับแผนการที่เซเลนสกีนำเสนอ มีสาระสำคัญแบ่งออกเป็น 5 ข้อ ซึ่งประเด็นสำคัญรวมถึง “การที่ยูเครนจะไม่มีวันเสียสละอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” และกล่าวว่า การทำสงครามกับรัสเซีย “ไม่ใช่วิกฤติแช่แข็ง”


ขณะเดียวกัน เซเลนสกีเรียกร้องให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เดินหน้ากระบวนการ เชิญยูเครนเข้าเป็นสมาชิก “ทันที” โดยให้เหตุผลว่า รัสเซียกำลังสั่นคลอนเสถียรภาพด้านความมั่นคงของยุโรป เนื่องจากรัฐบาลเคียฟ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต


อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาชิกแถวหน้าของนาโต โดยเฉพาะสหรัฐที่เป็นหัวเรือใหญ่ กล่าวว่า เส้นทางการเป็นสมาชิกนาโตของรัฐบาลเคียฟ “จะเปิดกว้างมากขึ้น” เมื่อสงครามกับรัสเซีย “ยุติอย่างสมบูรณ์”


ยิ่งไปกว่านั้น มีการวิเคราะห์เช่นกันว่า หากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตตั้งแต่ตอนนี้ ยิ่งเท่ากับเป็นการ “ทำสงครามโดยตรง” กับรัสเซีย จากการที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นาโตพยายามเลี่ยงด้วยการใช้วิธีส่งอาวุธให้แทน


นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลตะวันตก เปิดทางอย่างเป็นทางการ ให้รัฐบาลเคียฟสามารถใช้อาวุธนำวิถีพิสัยไกล โจมตีเป้าหมายในรัสเซีย และเรียกร้องให้อีกฝ่ายใช้ “มาตรการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมซึ่งไม่ใช่นิวเคลียร์” เพื่อปกป้องยูเครนจาก “ภัยคุกคามทางทหาร” จากรัสเซีย และวิจารณ์จีน อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ที่มอบความสนับสนุนให้แก่รัสเซีย โดยเรียกกลุ่มประเทศเหล่านี้คือ “พันธมิตรอาชญากร”.

เครดิตภาพ : AFP