นาทีนี้แม้ปรากฏภาพการออกล่าบุคคลตามหมายจับ แต่ดูเหมือนไร้วี่แวว ท่ามกลางความพยายามคาดหวังว่าสุดท้ายจะได้ตัวเพียง “สักคน” เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความจริง
ระหว่างนี้เองนอกจากคาดหวัง “สัญญาณดี” ผลลัพธ์หากคดี “หมดอายุความ” โดยไม่สามารถตามตัวจำเลยคนใดมาได้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเผื่อใจ และหาแนวทางไปต่อ
ในประเด็นนี้ “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถาม “พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ” ผอ.มูลนิธิประสานวัฒนธรรม ถึงภาพสถานการณ์หากต้องยุติที่หมดอายุความว่า หากเป็นเช่นนั้นจะไม่สามารถฟ้องดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้ และกลุ่มอื่นที่อาจยังไม่ได้ฟ้องได้อีกเลย เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยเขียนไว้ชัด การฟ้องร้องต้องนำตัวจำเลยมาศาล
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีอาญาปกติที่ประชาชนเป็นผู้ฟ้อง ดังนั้น เมื่ออายุความสิ้นลงจะไม่ต้องมีผู้ใดมารับผิดชอบการกระทำผิดทางอาญาที่เกิดขึ้น
“คดีนี้เป็นการฟ้องด้วยตัวราษฎร ศาลจึงนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเบื้องต้น และทราบว่ามีมูลทำให้ทั้งหมดตกเป็นจำเลยเฉพาะคดีที่ชาวบ้านฟ้องเอง ส่วนคดีที่อัยการสั่งฟ้อง ทุกคนที่โดนยังคงอยู่ในฐานะผู้ต้องหา เพราะยังไม่มีการสืบสวนสอบสวน และแจ้งข้อหา”
ทั้งนี้ ระบุ แม้อัยการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ส่วนตัวก็ยังไม่เริ่มมีหวัง เนื่องจากอัยการมีหน้าที่ตั้งแต่วินาทีแรกที่มีผู้เสียชีวิต แต่กลับปล่อยผ่านมากว่า 19 ปี ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่ได้เริ่มได้แค่ตำรวจทางเดียว เมื่อมีทั้งกระบวนการไต่สวนการเสียชีวิต และการดำเนินการกับการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ ตนจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการออกมาเริ่มเรื่องในวินาทีสุดท้าย พร้อมตั้งคำถามอาจเป็นการเลี่ยงข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
พรเพ็ญ กล่าวต่อว่า แม้ครั้งหนึ่งอัยการเคยชี้แจงว่าไม่มีอำนาจแทรกแซงสำนวนพนักงานสอบสวน แต่ตนมองต่างและเห็นว่าอัยการมีหน้าที่กำกับดูแล สิ่งใดที่ผิดพลาดต้องทำให้ถูกต้อง สิ่งใดน้อยไปหรือต้องเพิ่มเพื่อให้สำนวนมีน้ำหนักและรัดกุมก็เป็นหน้าที่ต้องทำ
ส่วนจำเลยคนสำคัญอย่าง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็นสส.พรรคเพื่อไทย ที่ลาประชุมสภายาวถึงวันที่ 30 ต.ค. อ้างไปรักษาตัวต่างประเทศ พรเพ็ญ มองน่าจะมีการตัดสินใจตั้งแต่วันที่เขียนใบลาว่าจะไม่กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ในฐานะฝ่ายโจทก์ยังคงคาดหวังให้พล.อ.พิศาล เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ เพราะหากคดีต้องจบลงแบบไม่มีผู้ใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย ไม่น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
ส่วนข้อกังวลผลลัพธ์ทางลบ อาจกระทบถึงสถานการณ์ในพื้นที่ เรื่องนี้มองบรรยากาศในพื้นที่ไม่น่าเปลี่ยนจากเดิมมากนัก เว้นแต่มีผู้ต้องการให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก คำถามนี้ประชาชนในพื้นที่น่าพูดได้มากที่สุดถึงกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้ในพื้นที่
“ประชาชนและสังคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะต้องตอบว่า จะยอมให้กฎหมายที่อ้างว่าทหารนำอาวุธไปใช้เพื่อระงับสงคราม ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธได้มันมีจริงอย่างที่บอกหรือไม่”
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พรเพ็ญ มองว่ามาจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คดีตากใบสะท้อนชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล แล้วจะนำกฎหมายใดมาบังคับใช้กับพื้นที่ การที่ตำรวจส่งสำนวนล่าช้านานกว่า 19 ปี ชัดเจนแล้วว่ามีการช่วยเหลือกันแต่ต้น แต่เพราะความพยายามของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้คดีตากใบเริ่มเดินหน้า
พรเพ็ญ เผยว่า แม้สุดท้ายกระบวนการในประเทศสิ้นสุดก็ยังมีช่องทางศาลในต่างประเทศ แต่ต้องพิจารณาว่าจะไปได้ระดับใด เช่น ความผิดอาญาเกี่ยวกับการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นความผิดสากล สามารถร้องเรียนกับศาลอาญาระหว่างประเทศได้
“หากหมดหวังแล้วจริง คงต้องพึ่งพิงกลไกศาลสากลเท่านั้น”
สุดท้ายนี้ ฝากถึงผู้มีอำนาจควรยุติการใช้ความรุนแรงโดยอาวุธ เพราะที่ผ่านมาได้สร้างความเดือดร้อนและความเข้าใจผิดกับคนในสังคม ทำให้มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นการแก้ปัญหา การที่ยังมีทหารเกณฑ์ และทหารพรานลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ล้วนเป็นผลพวงจากคดีตากใบที่ยังไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องเอื้อให้เกิดสันติภาพ สันติภาพที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน