เมื่อวันที่ 29 ก.ย. โลกออนไลน์ต่างพูดถึงกันเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากที่ ศ.นพ.วีรศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ “ความดันโลหิตสูงลดได้ด้วย ดื่มน้ำมะเขือเทศไม่ใส่เกลือทุกวัน”

ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่หัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติเพื่อสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ส่งผลให้หัวใจ หลอดเลือด และอวัยวะอื่นๆ ต้องทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย หากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลร้ายแรงได้ เช่น ความดันโลหิตสูงอาจนำไปสู่ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เช่น โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวาย มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งในนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือสูง เพราะเกลือช่วยให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน วารสาร Food Science and Nutrition ในปี 2019 โดยนักวิจัยจาก ประเทศญี่ปุ่น แนะนำให้ดื่มน้ำมะเขือเทศที่ไม่ใส่เกลือทุกวันสามารถลดความดันโลหิตได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมะเขือเทศยังช่วยลดคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจอีกด้วย

จากการศึกษา ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 481 คน ได้รับน้ำมะเขือเทศในปริมาณที่ต้องการตลอดทั้งปี โดยพวกเขาได้รับการคัดกรองตัวบ่งชี้ความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด และระดับกลูโคสในเลือด ก่อนและหลังช่วงการศึกษา โดยพบว่า
1.ในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหรือภาวะเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ระดับความดันโลหิต “ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”
2.การบริโภคน้ำมะเขือเทศเฉลี่ยต่อวันอยู่ระหว่าง 84 ถึง 215 มิลลิลิตร แต่ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่ดื่มไปประมาณหนึ่งขวด (200 มิลลิลิตร)
3.ความดันโลหิต ในผู้เข้าร่วม 94 ราย ที่มีภาวะก่อนความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
4.ระดับคอเลสเตอรอลไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL-C) ในซีรั่มของผู้เข้าร่วม 125 รายที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติที่ไม่ได้รับการรักษา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
5.ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่แตกต่างกันระหว่างเพศและกลุ่มอายุต่างๆ ไม่พบความแตกต่างที่สำคัญในไลฟ์สไตล์ก่อนและหลังการศึกษา

“สรุป การดื่มน้ำมะเขือเทศไม่ใส่เกลือช่วยปรับปรุงความดันโลหิตซิสโตลิกและไดแอสโตลิกและระดับ LDL-C ในซีรั่มของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดและหัวใจ” ความดันโลหิตอาจเชื่อมโยงกับสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า “ไลโคปีน” ซึ่งพบในมะเขือเทศ ซึ่งสามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นและการพัฒนาของหลอดเลือดแดงแข็ง

ปล. ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยนะครับ..

ขอบคุณข้อมูลจาก @หมอหมู วีระศักดิ์