ทั้งหมดที่ว่าไม่ใช่เพียงภาพฝัน หรือกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเพียงช่วงหรือระยะเวลาจำกัด หากแต่เป็นหนึ่งในกิจกรรมเที่ยวชมเมืองกรุงเทพฯ ที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนทุกวัน โดยมีให้เลือกทั้งแบบกลางวันที่มองเห็นวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างแจ่มชัด หรือยามเย็นไปจนถึงคํ่าที่มีแสงไฟมาช่วยแต่งแต้มสีสันสร้างบรรยากาศที่สวยงามจับใจไปอีกแบบ และทั้งหมดที่ว่าอยู่บน ไทยบัสฟู้ดทัวร์ รถอาหารคันแรกของประเทศไทย

ตลอดระยะเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที นับตั้งแต่ขึ้นรถจากจุดนัดพบที่ริเวอร์ซิตี้ รถบัสสองชั้นจะพาออกไป ผ่านจุดแรกที่ หัวลำโพง หรือชื่ออย่างเป็นทางการ สถานีกรุงเทพ วันนี้อาคารรูปโดม สไตล์อิตาเลียนผสมผสานศิลปะยุคเรเนซองส์มีลักษณะคล้ายกับรถไฟเมืองแฟรงก์เฟิร์ตในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ไปจนถึงลวดลายต่าง ๆ ตามบันไดและเสา ไปจนถึงกระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่า ๆ กับตัวอาคารสถานีที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี วันนี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนมากมายแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน โดยในยามคํ่าคืนจะมีการไลต์อัปไฟสีสันต่าง ๆ ด้วย

จากนั้นรถจะพาเลี้ยวมาทาง วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ที่มี พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำ เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีความเลื่อมใสศรัทธา โดยมี พระมหามณฑปหลวงพ่อทองคำ ตั้งสูงเด่นเป็นสง่ายามคํ่าคืน

ถัดมาคือ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา หรือ ซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย-จีน ตั้งอยู่ตรงจุดตัดถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนมิตรภาพไทย-จีน เปรียบเสมือนเป็นประตูสู่เยาวราช ออกแบบโดยช่างผู้ชำนาญด้านศิลปกรรมของจีน แต่ละจุดแฝงด้วยความหมายอันเป็นสิริมงคล ไม่ว่าจะเป็นมังกร 2 ตัวชูตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ไปจนถึงเพดานที่มีจารึกแผ่นทองเหลือง สิงโตหยกขาวคู่ที่รัฐบาลจีนมอบให้เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และกระต่ายหยกขาวแกะสลักที่รัฐบาลจีนมอบให้เช่นกัน

จากนั้นเข้าสู่เขต ไชน่าทาวน์ ชมแสงสียามคํ่าคืนตลอดถนนเยาวราชที่เต็มไปด้วยความครึกครื้นของร้านอาหารสตรีทฟู้ดชื่อดังมากมาย แล้วเลยต่อไปที่ ประปาแม้นศรี ที่มีจุดเด่นอยู่ตรง หอเก็บนํ้า ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ที่ถือเป็นหอเก็บนํ้าขนาดใหญ่แห่งแรกในพระนคร สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 5

ลัดเลาะต่อมายัง ภูเขาทอง เจดีย์ที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์คหนึ่งของ วัดสระเกศ เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงนำแบบมาจากภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า สุวรรณบรรพต มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันได้รับจากประเทศอินเดีย

ใกล้ ๆ กันคือ โลหะปราสาท ของ วัดราชนัดดาราม พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2492 เป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย ปลูกสร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ยอดปราสาทชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น

ขยับต่อมาอีกนิดที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยของคนไทย สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 โดดเด่นด้วยรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าสร้างด้วยทองแดงตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกมีครีบทรงแบนอยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบมีภาพแกะสลักลายปั้นนูน และมีรั้วเตี้ยกั้นรอบลานอนุสาวรีย์ ซึ่งรั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา เป็นเสาคล้องโซ่เชื่อมต่อกัน

จากนั้นรถบัสจะผ่านไปยัง วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร กับสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน แล้วเคลื่อนต่อไปยัง ป้อมพระสุเมรุ 1 ใน 2 ป้อมปราการสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ยังเหลืออยู่ของฝั่งพระนคร มีลักษณะเป็นป้อมทรง 8 เหลี่ยมสูงสง่า มีช่องยิงปืนใหญ่และคลังแสง ตั้งอยู่บริเวณสวนสันติชัยปราการ ปลายถนนพระอาทิตย์เชื่อมถนนพระสุเมรุริมแม่นํ้าเจ้าพระยา

เลี้ยวออกไปยัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เดิมที่นี่เป็นวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีพระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติมากมาย โดยเฉพาะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

ฝั่งตรงข้ามคือ สนามหลวง เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ บริเวณนี้เคยเป็นที่ทำนาของประชาชน แต่ก่อนหน้านั้นเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง จึงถูกเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าชื่อนั้น
ฟังดูไม่ดี จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า ท้องสนามหลวง ปัจจุบันเปรียบเสมือนสวนสาธารณะของคนเมือง ยามเช้าเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ส่วนยามเย็นกลายเป็นที่พักผ่อนเดินเล่นชมเมือง

ขยับเลยไปอีกนิดอีกฝั่งคือ พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างขึ้นพร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสร้างประกอบด้วยสามส่วน คือ พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดารามลัดเลาะออกมาถนนเลียบแม่นํ้าเจ้าพระยาผ่านชม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ที่มีหมู่พระปรางค์องค์ใหญ่เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ อีกฝั่งของถนนตรงข้ามกันคือ วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดประจำรัชกาลที่ 1 ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ แล้ววนกลับมาอีกด้านของแนวกำแพงพระบรมมหาราชวังผ่านมาทาง วัดพระแก้ว

ต่อด้วย “กระทรวงกลาโหม” เดิมเป็นโรงช้าง โรงม้า และโรงสีข้าวของทหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างเป็นโรงทหารถาวรขึ้น จากนั้นออกไปทาง “เสาชิงช้า” ในยุคก่อนใช้เป็นที่ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธี “ตรียัมปวาย-ตรีปวาย” ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่สำหรับเสาชิงช้าปัจจุบันนั้นเป็นเสาต้นใหม่ซึ่งได้จัดพิธีสมโภชไปเมื่อ 11-13 กันยายน 2550 วัสดุหลักทำจากไม้สักทองจากเมืองแพร่ ปัจจุบันที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ

ใกล้กันคือ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดนี้ไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่น ๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ คือต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา 7 ชนิดแทนที่ สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) พระประธานของวัดที่ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

จบที่จุดท่องเที่ยวแห่งสุดท้าย วัดมังกรกมลาวาส วัดจีนนิกายมหายานที่ก่อตั้งขึ้นโดยคณะสงฆ์จีนและชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมจีนโบราณ

ระหว่างที่ผ่านชมแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 20 จุดนั้น บัสโฮสเตทจะทยอยเสิร์ฟความอร่อยของเมนูอาหารไทยระดับมิชลินตลอดเส้นทาง เริ่มด้วยการต้อนรับเรียกความสดชื่นกับ นํ้าส้มมะปี๊ด ต่อด้วยเมนูเรียกนํ้าย่อยอย่าง ข้าวตังหน้าตั้ง และ เมี่ยงกลีบบัว จากนั้นจึงเสิร์ฟจานหลัก ก๋วยจั๊บนายอ้วน เยาวราช มาพร้อมกับ หมูสะเต๊ะเจ๊เอ็ง เยาวราช เสริมด้วย ผัดไทยมันกุ้ง-กุ้งสด จากร้าน ผัดไทยไฟทะลุ แถมท้ายด้วยของหวานจาก เช็งซิมอี๊ และอบอุ่นในวันฝนพรำด้วย นมร้อนจาก มนต์นมสด

สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติม Call Center 1672 หรือติดตามความเคลื่อนไหวทาง IG : 1672travelbuddy, TikTok : @1672travelbuddy, Twitter : @tat1672, www.tourismthailand.org และ www.tatcontactcenter.com