กลายปัญหาใหญ่ ที่หลายฝ่ายมีความกังวัล หลังงจากแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพรสต่างชาติจากจีน เข้ามาเปิดให้บริการในไทย นำสินค้าสั่งตรงจากโรงงานจีน มาขายในราคต่ำจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและโรงงานของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ หวั่นต้องปิดโรงงาน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่!!

ทำให้รัฐบาลต้องจัดเป็นปัญหาใน “10 นโยบายเร่งด่วน” ที่ต้อเร่งดำเนินการ ในการดูแล ส่งเสริม ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ทั้งนี้ คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ  กำลังร่วมกับ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะออกร่างประกาศ อี มาร์เก็ตเพลส ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างชาติให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกับสินค้าของผู้ประกอบการไทย ซึ่งคาดว่า จะนำร่างประกาศดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในไม่เกินต้นเดือน ต.ค. 67 นี้

อย่างไรก็ตามในส่วนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า( ETDA ) ที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ออกประกาศคู่มือ “การดูแลเกี่ยวกับการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน ของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” เพื่อเป็นไกด์ไลน์ หรือ แนวทางสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล  เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะมีส่วนช่วย “ปิดช่องโหว่” สินค้าไม่มีมาตรฐาน เช่น มอก. และ อย. บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ลดความเสี่ยง และผลกระทบจากสินค้าออนไลน์ที่ไม่ปลอดภัย

“ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการ เอ็ตด้า  บอกว่า ปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล แล้วได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ สินค้าเลียนแบบ หรือไม่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.   ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อหุงข้าว ปลั๊กไฟ เป็นต้น และสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่ผ่าน การอนุญาตจากมาตรฐานอาหารและยา หรือ อย. เช่น พวกเครื่องสำอาง อาหารเสริม เป็นต้น มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมาอย่างมาก สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคทั้งทางร่างกาย สุขภาพ ทรัพย์สิน ความเชื่อมั่นต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจไทยที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องเสียเปรียบในการแข่งขัน เพราะสินค้าลอกเลียนแบบที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาถูก แต่แฝงไปด้วยความเสี่ยง จนกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวมของประเทศ

ชัยชนะ มิตรพันธ์

ทั้งนี้ทางเอ็ตด้า ได้ออกประกาศ ‘คู่มือการดูแลเกี่ยวกับการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้มีแนวปฏิบัติที่ดีในการดูแลเกี่ยวกับการขายหรือโฆษณาสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มของตนเอง ที่ต้องมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่าง มาตรฐาน มอก. หรือ อย.

“ชัยชนะ มิตรพันธ์” บอกต่อว่า รายละเอียดของประกาศคู่มือนี้จะครอบคลุม ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการขายหรือโฆษณาสินค้าตามชนิดหรือประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีมาตรฐาน ที่ต้องประกาศให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างชัดเจนอย่างน้อยๆ ต้องกำหนดคุณลักษณะของสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ หม้อหุงข้าว ปลั๊กไฟ ต้องแสดงภาพสินค้าที่โชว์เครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และรหัสคิวอาร์ (QR Code)

 สำหรับในส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องสำอาง ต้องมีฉลากที่แสดงภาพสินค้า ชื่อ ที่อยู่ของผู้ผลิตหรือ นำเข้า เลขที่อนุญาตการผลิต เลขที่อนุญาตโฆษณา และต้องมีการกำหนดข้อจำกัดในการขายหรือโฆษณาสินค้า    เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ให้เป็นสินค้าที่ถูกจำกัดการขายหรือโฆษณา ที่ผู้ประกอบการในฐานะผู้ขาย ต้องส่งเอกสารประกอบการขายหรือโฆษณาให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนขาย และการกำหนดให้ สินค้าจำพวก ยา (ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน) วัตถุเสพติด เป็นสินค้าห้ามขาย

นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดในการตรวจสอบข้อมูลสินค้าและความเป็นผู้ประกอบการก่อนเผยแพร่ (Screening) เช่น สินค้าจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับใบรับรองหรือหลักฐานที่แสดงได้ว่าผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว พร้อมนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เก็บสินค้า

ในส่วนของการสมัครใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้ขาย จะต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เช่นการใช้ Digital ID (การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) สำหรับผู้ประกอบการที่สมัครเพื่อขายหรือโฆษณาสินค้าบนแพลตฟอร์ม เช่น กรณีเคยตรวจสอบมาแล้วโดยผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ThaID กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือ IdP  (Identify Provider) อื่น รวมถึงการที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีเองตอนสมัครใช้งาน เป็นต้น

คู่มือฉบับนี้ได้มุ่งเน้นที่ระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตนที่ระดับ IAL2 (Identity Assurance Level) เป็นอย่างน้อย สำหรับผู้ประกอบการคนไทยหรือในระดับที่เหมาะสมสำหรับชาวต่างชาติ หรือวิธีอื่นๆ ตามที่คู่มือกำหนด การดำเนินการขณะเผยแพร่สินค้า (Ongoing Monitoring) ควรจัดให้มีการแสดงข้อมูลสินค้าเป็นภาษาไทยอย่างชัดเจนบนหน้าแสดงผลของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถอ่านและเข้าใจข้อมูลได้ง่าย เช่น สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว ข้อมูลของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า สถานที่ผลิตหรือนำเข้า รายละเอียดของสินค้า ใบรับรองหรือหลักฐานการผ่าน มอก. หรือ อย. ข้อมูลเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ขณะที่แพลตฟอร์มต้องช่วยให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าสามารถแสดงภาพสินค้า และสัญลักษณ์มาตรฐาน บนหน้าแสดงผลของแพลตฟอร์มได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และมีลิงก์หรือช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้      

       

ภาพ pixabay.com

และสุดท้ายคือ มาตรการภายหลังการเผยแพร่ (Post-Publication) ทั้ง การตรวจสอบคุณภาพของผู้ประกอบการ ผ่านจำนวนและประเภท รายงาน (Report)ของคนซื้อ , การปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไข นโยบาย หรือมาตรฐานชุมชน และการจัดทำทะเบียนประวัติของผู้ประกอบการที่ควรพึงระวัง (Watchlist) และผู้ประกอบการที่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการขายหรือโฆษณาสินค้า (Blacklist)

 นอกจากนี้ ยังควรมีการตรวจสอบการเสนอหรือการโฆษณาสินค้า ด้วยระบบอัตโนมัติหรือเจ้าหน้าที่ และต้องระบุเกณฑ์ ในการรีวิวสินค้าไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งาน และมีการจัดการเรื่องร้องเรียนพร้อมกำหนดวิธีการในการตรวจสอบและแจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบโดยเร็ว เป็นต้น

คู่มือที่ออกมาหวังว่าจะมีส่วนสร้างความเชื่อมั่นให้คนซื้อ และแก้ปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานให้ลดน้อยลง!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์