ต้องบอกว่าค่าแรงขั้นต่ำ คือสิ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือของภาคการเมือง มาทุกยุคสมัยที่ใช้หาเสียงซื้อใจผู้ใช้แรงงาน และจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา บรรดาพรรคการเมืองก็ยังนำการกำหนดขึ้นค่าแรง มาหาเสียงซื้อใจประชาชน เห็นได้จากที่พรรคเพื่อไทยกำหนดนโยบายขึ้นเพดานค่าแรงไปถึงตัวเลข 600 บาทต่อวัน ภายใน 4 ปี เมื่อมาเป็นรัฐบาลจึงถือเป็นนโยบายเรือธงที่พรรคเพื่อไทยต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรมตามสัญญาที่เคยประกาศไว้ในสนามเลือกตั้ง
โดยปักหมุดทะยอยประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ไปแล้วในกิจการโรงแรมและพื้นที่ท่องเที่ยว ที่เหมาะสม ต้องยอมรับว่ากิจการและพื้นที่เหล่านี้ค่าแรงสูงอยู่แล้ว และบางที่เกิน 400 บาท ด้วยซ้ำไป
งานนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะคุมกระทรวงแรงงาน ได้เคยขึ้นเวทีวันแรงงานแห่งชาติ ปี 67 พร้อมประกาศชัดว่า จะขึ้นค่าจ้างให้ถึง 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกัน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ก็เร่งผลักดันโดยประกาศชัดเช่นกัน ว่าค่าแรง 400 บาท เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำหลายครั้งถึงขั้นปรับสูตรพิจารณาตัวเลขกันใหม่ แต่กระนั้น เห็นได้ชัดว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ลงลอย มีการเมืองแทรกแซงอย่างหนักโดยเฉพาะการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เดือน ก.ย. ที่ล่มไม่เป็นท่า หลายครั้ง
โดยการประชุมรอบล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการเล่นเกมการเมืองอย่างชัดเจน เพราะคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายลูกจ้างเอง ก็ไม่มาร่วมประชุมถึง 6 คน โดย 3 คน เป็นการแจ้งลาประชุมล่วงหน้าเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 จึงทำให้การประชุม ล่มลง ก่อนจะกำหนดการประชุมขึ้นใหม่ในวันที่ 24 ก.ย. แต่ยังไม่พ้น 24 ชม. ช่วงสายของวันที่ 21 ก.ย. ปลัดกระทรวงแรงงานก็ออกมาบอกว่า คณะกรรมการค่าจ้าง ไม่สามาถจัดการประชุมได้ 24 ก.ย. นี้ได้ เนื่องจากนายเมธี สุภาพงษ์ คณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นผู้แทน ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เกษียณอายุราชการไปตั้งแต่ปี 2566 แล้ว
ซึ่งแหล่งข่าวของ ธปท. ก็ออกมายืนยันว่า นายเมธีถูกเสนอชื่อ มาโดยการแต่งตั้ง ซึ่งสามารถดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการได้ แต่ รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงแรงงานก็ยังยืนยันว่า ทางธปท.ต้องแต่งตั้งผู้แทนคนใหม่เข้ามา พร้อมกดดันให้นายเมธีลาออกโดยอ้างว่าเพื่อความสง่างาม และเป็นที่น่าสงสัยมากขึ้น เมื่อนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กลับยื่นหนังสือลาออกจากการเป็รคณะกรรมการค่าจ้างเสียดื้อๆ โดยอ้างว่าเพื่อเปิดทางให้คนอื่นมาดำรงตำแหน่งแทน เนื่องจากตนกำลังจะเกษียณอายุราชการ จึงถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างให้นายเมธี ที่เป็นตัวแปลสำคัญ ลาออก เพราะเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาท ครั้งนี้
เป็นเรื่องที่ต้องน่าจับตามองว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนั้นจะสำเร็จได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เมื่อมีการพูดถึงการขึ้น ค่าจ้างทีไรข้าวของเครื่องใช้หรือแม้กระทั่งค่าครองชีพ ก็ขึ้นไปรอต้อนรับ การขึ้นค่าจ้าง เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายผู้รับกรรมคือประชาชน จึงจอให้ทุกฝ่ายอย่าเอาประชาชนมาเป็นมาเป็นหมากเกมทางการเมือง