สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ว่า “สวิตเซอร์แลนด์” ยังคงเป็นผู้นำในดัชนีนวัตกรรมโลกของปีนี้ ตามด้วยสวีเดน และสหรัฐ ขณะที่สิงคโปร์แซงหน้าสหราชอาณาจักร และขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 4

ด้านอันดับของเกาหลีใต้เขยิบขึ้นมากถึง 4 อันดับ จากปีที่แล้ว แซงหน้าฟินแลนด์, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และเดนมาร์ก

อนึ่ง การจัดอันดับจีไอไอในทุก ๆ ปี โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก พิจารณาจากการจดสิทธิบัตรและนวัตกรรมของ 133 ประเทศทั่วโลก

นายดาเรน ถัง ผู้อำนวยการใหญ่ไวโป กล่าวถึงการใช้จ่ายด้านการพัฒนาและวิจัยที่ลดลงในปีที่แล้ว หลังจากที่เคยเฟื่องฟู ระหว่างปี 2563-2565 ขณะที่สิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์และการลงทุน ลดลงมาอยู่ในระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปี 2566 ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในสาขาสุขภาพ เช่น การจัดลำดับจีโนม ตลอดจนอุตสาหกรรมพลังการประมวลผล และแบตเตอรี่ไฟฟ้า ขณะที่การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ยังคงเข้มข้น โดยเฉพาะในด้าน 5จี, หุ่นยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้า

การชะลอตัวของการลงทุนด้านนวัตกรรม ทำให้แนวโน้มในปีนี้และปี 2568 ไม่แน่นอน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ซึ่งถือเป็น “ยุคทองของนวัตกรรม” ที่ยาวนาน นายซาชา วุนช์-วินเซนต์ หนึ่งในผู้เขียนรายงาน อธิบายว่า ต้นเหตุมาจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป

อนึ่ง สวิตเซอร์แลนด์ครองอันดับที่ 1 ในดัชนีจีไอไอเป็นปีที่ 14 ติดต่อกัน

ขณะที่สิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดในหลายตัวชี้วัด “แม้สิงคโปร์อาจโตขึ้นจนถึง 3 อันดับแรก แต่การเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำด้านนวัตกรรมยังคงเป็นเรื่องท้าทาย” เขากล่าว

สำหรับเกาหลีใต้ วุนช์-วินเซนต์อธิบายว่า กลยุทธ์ใหม่ ๆ ของบริษัทในตลาดสมาร์ตโฟน, เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) และเซมิคอนดักเตอร์ ช่วยให้สามารถไต่อันดับขึ้นมาได้

นอกจากนี้ ถังเสริมว่า เกาหลีใต้ได้ประโยชน์จากมาตรการที่เน้นนวัตกรรม และการลงทุนในภาคเอกชนเพื่อการวิจัยและพัฒนา นอกเหนือจากนั้น เกาหลีใต้ยังเป็นแหล่งความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เช่น กระแสเคป๊อป และละครเกาหลีปีนี้ จีนกลับมาแซงหน้าฝรั่งเศสอีกครั้ง และครองอันดับที่ 11 ถือเป็นประเทศรายได้ปานกลางประเทศเดียวใน 30 อันดับแรก โดยประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน, มาเลเซีย (อันดับที่ 33) และตุรกี (อันดับที่ 37)

ประเทศรายได้ปานกลางในระดับต่ำ 3 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย (อันดับที่ 39), เวียดนาม (อันดับที่ 44) และฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 53)

ประเทศรายได้ต่ำ 3 อันดับแรก ได้แก่ รวันดา (อันดับที่ 104), มาดากัสการ์ (อันดับที่ 110) และโตโก (อันดับที่ 117)

15 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมปี 2567 (อันดับปี 2566 ในวงเล็บ) :

1. สวิตเซอร์แลนด์ (1)

2. สวีเดน (2)

3. สหรัฐอเมริกา (3)

4. สิงคโปร์ (5)

5. สหราชอาณาจักร (4)

6. เกาหลีใต้ (10)

7. ฟินแลนด์ (6)

8. เนเธอร์แลนด์ (7)

9. เยอรมนี (8)

10. เดนมาร์ก (9)

11. จีน (12)

12. ฝรั่งเศส (11)

13. ญี่ปุ่น (13)

14. แคนาดา (15)

15. อิสราเอล (14)

.

.

.

41. ไทย (43)

เครดิตภาพ : AFP