เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความสมดุลกฎหมาย แต่กฎหมายเรื่องจริยธรรมในสังคม อาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาถกเถียงอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 กำหนดว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้เขียนมาตรฐานทางจริยธรรม สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และให้บังคับถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสมาชิกรัฐสภาด้วย กลายเป็นประเด็นว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกอาชีพ ถ้าถามว่าดีหรือไม่ เพราะบางอย่างปฏิบัติแล้วทำให้เกิดความไม่มั่นคง ทำให้ผู้นำรัฐบาลไม่สามารถตัดสินอะไรๆ ได้เพราะกลัวจะถูกถอดถอน และกังวลว่าจะถูกมาตรฐานทางจริยธรรมทำให้บริหารงานไม่มีความมั่นคง ทำให้คนไม่ไว้วางใจในรัฐบาล เพราะไม่มั่นใจว่าอยู่นานเท่าไหร่ ดังนั้นควรต้องมีความมั่นคงพอสมควร แต่มาตรฐานทางจริยธรรม เช่น การไม่โกง ไม่ทุจริต ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และควรระบุให้ชัดว่ามาตรฐานของแต่ละอาชีพนั้นควรอยู่ตรงไหน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะของผู้นั้น

เมื่อถามถึง พฤติกรรมในอดีตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในเรื่องของจริยธรรมหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดปัญหาเพราะเดิมเราไม่มีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน แต่ไปตัดสินที่ศาลเลย ซึ่งหากยึดคำพิพากษาของศาล ถือเป็นจริยธรรมของบุคคลทั่วไป แต่สมาชิกรัฐสภา ควรมีจริยธรรมระดับหนึ่งไม่เท่ากับคนทั่วไป การที่กำหนดมาตรฐานทางธรรมสูงเท่าผู้พิพากษา ตนก็คิดว่าเกินไปหน่อย ซึ่งความจริงมาตรฐานสูงเป็นเรื่องดี แต่ปฏิบัติลำบาก

“ถ้าเกินขนาดนั้นดีหรือไม่ ต้องบอกว่าดี แต่มันปฏิบัติลำบาก เมื่อคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่กล้าตัดสินใจอะไรสักอย่าง ประชาชนเสียประโยชน์แน่นอน อย่างจริยธรรมของแพทย์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่มีของแต่ละองค์กร” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการยื่นคำร้องว่ามี สส.ลาประชุม 84 ครั้ง จากที่มีการประชุม 95 ครั้ง ถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พูดยากเพราะเป็นเรื่องข้อบังคับและกฎหมายที่ สส.สามารถทำได้ แต่ก็ตรวจสอบความเหมาะสมได้ และถือเป็นความรับผิดชอบ ซึ่งความจริงกรณีเช่นนี้มีน้อยมาก เพราะพรรคการเมืองก็ได้เข้มงวดสมาชิกในการลงมติต่างๆ โดยตลอด แต่กรณีนี้ถ้ามีการเสนอให้ตรวจสอบก็ต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีอนุกรรมการแต่ละฝ่ายพิจารณาอีกที  ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการประชุมกรรมการจริยธรรม เนื่องจากยังไม่มี “ผู้นำฝ่ายค้านฯ” แต่ตอนนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้านฯ แล้ว รวมถึงมีปัญหาเรื่องสัดส่วนตัวแทนที่สลับเปลี่ยนกันใหม่ จึงต้องมาดูสัดส่วนที่เป็นจริงและต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามพรรค เพราะบางพรรคแบ่งซีกนั่งฝ่ายค้านครึ่งหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลครึ่งหนึ่ง ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ซึ่งพรรคพลังประชารัฐถือว่าเป็นฝ่ายค้าน คาดว่าน่าจะเรียบร้อยได้ในเร็วๆ นี้ เพราะมีเรื่องยื่นเข้ามารออยู่ประมาณ 6-7 เรื่อง โดยจะให้ฝ่ายเลขาฯ ประธานสภาไปดำเนินการให้ครบ เพื่อเรียกประชุมคณะกรรมการจริยธรรม

เมื่อถามย้ำว่า คนที่เซ็นอนุญาตให้ลาได้คือประธานสภาผู้แทนราษฎรข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายวันมูหะหมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้มอบให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นผู้ดูแลเรื่องการลาของสมาชิก ทั้งนี้ยอมรับว่าตามข้อกฎหมายเป็นเรื่องยาก เพราะกำหนดให้สมาชิกลาได้ ถ้าจำเป็น ซึ่งการลาสมาชิกก็บอกว่าจำเป็น ติดภารกิจ หรือไม่สบายก็ต้องมีเหตุผลมา แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน ตนคิดว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้เลือกสมาชิกคงจะวัดได้

เมื่อถามย้ำว่า ในอดีตมีการลาประชุมสภามากเท่านี้หรือไม่นั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ก็มีคนลา ส่วนใหญ่ที่ลาบางคนเป็น สส.และเป็นรัฐมนตรีด้วย หรือสมัยก่อนนายกรัฐมนตรี เป็น สส.ก็ติดภารกิจเยอะเช่นกัน แต่ไม่แน่ใจว่าจำนวนมากขนาดนี้หรือไม่ เพราะไม่ได้ตรวจสอบย้อนหลัง บางคนไม่ได้เป็นทั้งสองอย่างก็ขาดประชุมก็มี แต่ตนก็เห็นว่าถือเป็นเรื่องดีที่มีคนสนใจการปฏิบัติหน้าที่ของ สส. ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน และต่อไปก็จะเป็นประเด็นหนึ่งที่เวลาไปเลือกตั้งประชาชนก็จะได้เห็น จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนจะตรวจสอบ เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปอย่างโปร่งใสและชัดเจน

เมื่อถามว่าการตรวจสอบเรื่องลักษณะนี้จะต้องเรียกเจ้าตัวมาชี้แจงหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การสอบถามเป็นเรื่องของอนุกรรมการฯ ที่จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่เราไม่มีกฎหมายที่จะไปบังคับเหมือนศาลว่าต้องมาให้ถ้อยคำ ถ้าเจ้าตัวไม่มาให้ถ้อยคำ ก็ถือเอาตามเหตุการณ์แวดล้อม และคำร้อง ซึ่งคนที่ถูกร้องก็จะเสียเปรียบเอง.