เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย)) ระดับปฏิบัติการ รุ่นที่ 1 โดยมี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายมานะ สิมมา ที่ปรึกษากฎหมาย นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายยงยุทธ ชื้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ว่าที่ร้อยตรี นันทน์สถาพร พลายเถื่อน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นางแม้นเขียน เชาว์ศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมที่ดิน และผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย)) ระดับปฏิบัติการ รุ่นที่ 1 จำนวน 22 คน ร่วมในพิธี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ ทั้ง 36 คน ที่พวกเราได้รับการรับรองจากหน่วยงานหลักของประเทศด้านกฎหมายภาครัฐ นั่นคือ “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลและส่วนราชการ ที่ได้ให้ความร่วมมือดำเนินโครงการฝึกอบรมพัฒนานักกฎหมายภาครัฐกระทรวงมหาดไทย ผ่านการเปิดโอกาสให้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยได้รับผิดชอบดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ((ภาคพิเศษ) กระทรวงมหาดไทย) ภายใต้หลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนด โดยน้อง ๆ ทั้ง 36 คน นับว่ามีความโชคดีที่ได้ผ่านกระบวนการในการได้รับการอบรมสั่งสอน แนะนำ ในเรื่องของเนื้อหางานกฎหมายภาครัฐที่พวกเราต้องช่วยเป็นเหมือนกับที่ปรึกษาใหญ่ของกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงทุกจังหวัด เพื่อให้ความมั่นอกมั่นใจในการขับเคลื่อนงาน โดยทุกคนที่ผ่านการฝึกอบรม ล้วนได้รับเกียรติบัตรที่ได้รับการลงนามรับรองจากท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงถือเป็นสิ่งที่ดีและน่าภาคภูมิใจสำหรับเราทุกคน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ประการสำคัญต่อมา นอกจากเราจะได้รับเครดิตจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งคณาจารย์ท่านต่าง ๆ แล้ว สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติราชการของพวกเรา เพราะทุกคนที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีศักดิ์และสิทธิ์ในการทำให้พวกเราได้รับค่าตอบแทน พ.ต.ก. ได้ เพราะเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงแรกและกระทรวงเดียวในขณะนี้ที่มีหลักสูตรในลักษณะนี้ จึงต้องขอขอบคุณท่านประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้เป็นผู้ประสานติดต่อและเชิญท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ริเริ่มจัดการหลักสูตรให้กับกระทรวงมหาดไทยเป็นการเฉพาะ โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในโครงการนี้ ไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยในระยะเริ่มแรกจะได้เป็นการฝึกอบรมพัฒนานักกฎหมายในสังกัดของกระทรวงมหาดไทยระดับปฏิบัติการ และจะได้ขยายผลต่อไปเพื่อฝึกอบรมในระดับชำนาญการในอนาคต

“ขอให้ทุกท่านใช้โอกาสจากการเข้าอบรมในครั้งนี้ เป็นแรงบันดาลใจในการทุ่มเทปฏิบัติราชการในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้มี passion ตลอดเวลาในการที่จะนำเอาความรู้ความสามารถมาทำงานให้มากกว่างาน Routine หรืองานประจำ เพราะว่างานประจำอยู่ที่ไหนเราก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะต้องทำ Extra Job หรือการทำงานพิเศษ โดยงานพิเศษในที่นี้ คือการที่เราต้องคิด มองหาปัญหา และหาทางแก้ไขในทุก ๆ เรื่องที่จะสามารถบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ ดังเช่น การที่เราเป็นพ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง ต่างก็มีหน้าที่ประจำ คือ ต้องทำให้คนในครอบครัวไม่หนักใจ ช่วยเหลืองานบ้าน พยายามเป็น สมาชิกที่ดีของครอบครัว ไม่สร้างปัญหา และพร้อมที่จะสนับสนุนทุกคนอยู่ตลอด หรือในด้านหน้าที่การงาน เราก็จะต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ งานในแฟ้มก็ต้องทำให้สำเร็จเรียบร้อยด้วยความรวดเร็ว และงานในเชิงพื้นที่ หรืองานต่าง ๆ ที่เข้ามาที่นอกเหนือจากงานประจำ เราก็ต้องทำให้สุดกำลังความสามารถ และในส่วนของพวกเรา ที่เป็น “นิติกร” ที่ผ่านการอบรมมาเรียบร้อยแล้ว”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า พวกเราในฐานะ ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ภาคพิเศษ รุ่นแรก ถือเป็นรุ่นที่ผู้บริหารมีความคาดหวังในระดับสูงมาก จึงต้องมี Extra Job เยอะ ๆ คือ ต้องหมั่นทำงานที่ต้องมีความใส่ใจ ตรวจสอบดูระเบียบกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมมากที่สุด ต้องพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอยู่เสมอ เพื่อดำรงความเป็นธรรม และดำรงความถูกต้องเอาไว้ “เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ความยุติธรรมล่าช้าย่อมเท่ากับความอยุติธรรม” ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของเราให้ดียิ่ง เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน มากที่สุด

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดของพวกเราในฐานะ “นิติกรของกระทรวงมหาดไทย” จะต้องมีใจที่จะช่วยปรับปรุงพัฒนาระบบงานด้วยกำลังความสามารถที่มี เพราะผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต่างเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวอยู่แล้ว เราอาจใช้โอกาสที่ดีเหล่านี้ในการรวมตัวเป็นยังเติร์ก ช่วยกันศึกษา พูดคุย เสนอความคิดเห็น และเผยแพร่รายงานนำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบ และสร้างการรับรู้ขยายผลให้สังคมรับรู้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ด้วยความรู้ความสามารถ เพื่อรับคำแนะนำ ความคิดเห็น (Public Hearing) จากสาธารณชน เพื่อให้การขับเคลื่อนกฎหมายสัมฤทธิ์ผล ก่อให้เกิดมรรคผลกับผู้บังคับบัญชาและหน่วยงาน ด้วยการต้องตระหนักถึงความสำคัญของตัวเราเองว่า “เราไม่ใช่ข้าทาส เราไม่ใช่คนรับใช้” แต่เราคือ คนที่มี Passion ที่จะ Change for Good ด้วยการทำหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี คือ ทำให้ผู้บังคับบัญชามีความคิดเห็นและมีความเห็นชอบตามที่เราเสนอ เพราะนักกฎหมายระดับปฏิบัติการมีความใกล้ชิดกับงานมากที่สุด จึงมีความสำคัญ ดังตัวอย่างเช่น ในเรื่องน้ำท่วม น้ำเสีย พวกเราในฐานะนักกฎหมาย ก็ต้องช่วยกันดูว่า ระเบียบกฎหมายที่มาจากไอเดียใด ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ จากการร่วมกันคิด ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมกันข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยการนำเสนอความคิดดี ๆ ไปสู่การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ในปัจจุบัน และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อพี่น้องประชาชน

“ตำแหน่ง “นิติกร” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กร ตั้งแต่ต้นน้ำ เพราะนิติกรที่ดีต้องช่วยทำให้ผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานสามารถทำงานด้วยความถูกต้อง ไม่ผิดพลาด พลั้งเผลอ ซึ่งเป็น extra job เพราะการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต การดำเนินคดีอาญา การจัดการเลือกตั้ง ที่ดิน สัญชาติ ล้วนเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายที่สัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งสิ้น เช่น เรื่องที่ดินของรัฐที่ไปทับที่ดินของประชาชน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่อง One Map เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินทับซ้อน โดยพวกเราผู้เป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ สามารถมีส่วนร่วมในการนำเสนอและผลักดันเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้ผนึกกำลังร่วมแรงคิดกับพวกเรา ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนหลายพื้นที่ และในปัจจุบันนี้ก็มีเทคโนโลยีจำนวนมากที่สามารถใช้ในการพิสูจน์ อาทิ AI รวมถึงเรามีภาพถ่ายทางอากาศที่ทางกองทัพประเทศสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการจัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2495 รวมถึงการสำรวจของกรมแผนที่ทหาร ซึ่งปรากฏแนวเขตของที่ดินประชาชนที่ใช้ทำมาหากินและการเกษตรกรรมอย่างชัดเจน เพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบกับแนวเขตที่ดินที่ถูกส่วนราชการได้กำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยาน พื้นที่ป่าไม้ ตามกฎหมายว่าด้วยพื้นที่นั้น ๆ ที่ออกในปี 2517 ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายหลังจากการสำรวจจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จึงเชื่อได้ว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิที่ดินของประชาชน พวกเราในฐานะนิติกรของกระทรวงมหาดไทยเราจึงต้องช่วยกันกำหนด Solution ให้รัฐบาลได้พิจารณาช่วยเหลือประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าและที่ดินของรัฐที่ออกใช้บังคับภายหลัง รวมถึงในเรื่องการพิจารณาให้สัญชาติให้แก่คนไทยที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งแม้ว่าทางราชการจะดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 35 ปี แต่ก็ยังคงมีคนไทยจำนวนกว่า 4.8 แสนคนยังตกค้างการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตตลอดจนการศึกษา การประกอบอาชีพ ที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต และส่งผลต่อรายได้ จนท้ายที่สุดบุคคลเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับโอกาสที่ดีของชีวิต ที่แม้ว่าเขาจะมีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อไม่มีสัญชาติ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์หรือสิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมาย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญของการเป็นนิติกร และขอให้ทุกคนได้มีความตระหนักในการเป็นกำลังสำคัญของข้าราชการรุ่นใหม่ เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน และมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้ประสบมรรคผลของเนื้องาน เพื่อส่งผลให้ประสบความสมหวัง ความสำเร็จในชีวิตของการรับราชการและการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสืบต่อไป

ว่าที่ร้อยตรี นันทน์สถาพร พลายเถื่อน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ดำเนินโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย)) ระดับปฏิบัติการ รุ่นที่ 1 โดยคัดเลือกนิติกรระดับปฏิบัติการ ที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้ารับการอบรมเพื่อเสริมความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนากฎหมายที่ดีขึ้น มีความรู้พื้นฐานในต่างด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน มีทัศนคติที่ดี มีทักษะที่จำเป็น และมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนสามารถทำงานร่วมกับผู้มีความรู้ในศาสตร์และศิลป์แขนงอื่นที่แตกต่างได้อย่างเข้าใจ (Collaboration) โดยดำเนินการจัดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร และได้ดำเนินการประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนดเสร็จสิ้นแล้ว มีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร จำนวน 36 คน

“ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยถือเป็น “ส่วนราชการแรก” ที่ได้มีการริเริ่มในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อจัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย)) ระดับปฏิบัติการ รุ่นที่ 1 ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับข้าราชการนิติกรระดับปฏิบัติการ ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้เวลาอบรมอย่างเต็มที่ และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นด้วย”