เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่อาคารเจ ดับบลิว ทาวเวอร์ นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมระยะทาง 15.8 กิโลเมตร (กม.) โดยแนวเส้นทางเป็นทางยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ M7) มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดปลายของทางพิเศษ (ด่วน) ศรีรัช ส่วน D ในปัจจุบัน เป็นทางยกระดับ 2 ฝั่ง แบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร

โดยตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างมอเตอร์เวย์ M7 และทางบริการทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ใต้) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ จากนั้นทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้ เป็นโครงสร้างทางยกระดับ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 8.95 กม. ผ่านทางแยกต่างระดับทับช้าง ก่อนแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งมอเตอร์เวย์ M7 บริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้า จากนั้นจะแยกออกจากทางหลักขนาด 2 ช่องจราจร เลี้ยวขวาเชื่อมทางเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ และทางหลักจะมุ่งหน้าผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ จากนั้นลดระดับลงบนมอเตอร์เวย์ M7 หน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

นายกาจผจญ กล่าวต่อว่า โครงการมีทางเข้าออก 3 จุด ประกอบด้วย 1.จุดเริ่มต้นโครงการ (ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) 2.ทางเชื่อมเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงสร้างจะแยกออกจากเส้นทางหลัก และ 3. จุดสิ้นสุดโครงการ (ลาดกระบัง) อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะครั้งนี้ กทพ. จะนำไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียด เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 67 จากนั้นปี 68 จะเสนอขออนุมัติโครงการฯ ตลอดจนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และปี 69 จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ก่อนจะเริ่มก่อสร้างในปี 70 แล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการในปี 73

นายกิตติพงศ์ จำเริญศาสน์ วิศวกรงานทาง กล่าวว่า โครงการนี้จำเป็นต้องเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติม 5 จุด ได้แก่ 1.จุดเริ่มต้นโครงการ 2.จุดกลับรถ กม.2, 3.สะพานกลับรถ กม.10+000, 4.ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ และ 5. สะพานกลับรถจุดสิ้นสุดโครงการ โดยมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 76 ราย แปลงที่ดินได้รับผลกระทบประมาณ 11 แปลง รวมเนื้อที่ดินที่ได้รับผลกระทบประมาณ 43,743 ตารางเมตร (ตร.ม.) และสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบประมาณ 47 หลัง สำหรับการประมาณราค่าค่าทดแทนที่ดิน จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งอ้างอิงตามราคาที่ดินที่มีการซื้อขายกันในท้องตลาดเป็นหลัก

นายกิตติพงศ์ กล่าวอีกว่า วงเงินลงทุนโครงการอยู่ที่ประมาณ 20,710 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 19,145 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 840 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 725 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 14.35% สูงมากกว่า 12% ทั้งนี้ ทางด่วนสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนมอเตอร์เวย์ M7 รวมทั้งเพิ่มทางเลือก และลดระยะเวลาเดินทางได้ 25-30 นาที ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้สะดวกมากขึ้น

นายกิตติพงศ์ กล่าวด้วยว่า ปีแรกของการเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีปริมาณจราจร 68,909 คันต่อวัน รายได้ 1,502 ล้านบาท และปีที่ 30 ประมาณ 9 หมื่นคันต่อวัน รายได้ 3,115 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทางด่วนสายนี้มีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบเปิด ใช้เทคโนโลยีจัดเก็บค่าผ่านทางแบบใช้พนักงาน (Manual Toll Collector System : MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection System : ETC) ร่วมกัน โดยฝั่งขาเข้าเมือง (มุ่งหน้าไปพระราม 9) 8 ช่องจราจร และฝั่งขาออกเมือง (มุ่งหน้าไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ลาดกระบัง) 7 ช่องจราจร อัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ 60 บาท รถ 6-10 ล้อ 90 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ 120 บาท ปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุม และออนไลน์ รวมกว่า 300 คน ซึ่งในช่วงการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประชาชนหลายคนได้ลุกขึ้นร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่กังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระหว่างก่อสร้าง และระยะยาว ทั้งทางเสียง ฝุ่นละอง มลพิษ และสุขภาพจิตคนในชุมชน โดยบางคนเสนอให้แจกเครื่องฟอกอากาศ ขณะที่บางคนมองว่าค่าผ่านทางแพง จึงเสนอให้พิจารณาไม่ต้องเก็บค่าผ่านทางได้หรือไม่ เพราะจ่ายมาแล้วหลายด่าน อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้มีเสียงคัดค้านการสร้างการก่อสร้างทางด่วนบนพื้นที่เกาะกลางระหว่าง M7 และทางบริการเหมือนครั้งที่ผ่านมา.