นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยปาฐกถาพิเศษ นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือดว่า ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อความอยู่รอดทางชีวิตและเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลังพร้อมจะผลักดันทางด้านภาษี และมาตรการทางการเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้วและคาดว่าจะเสนอ ครม.เห็นชอบได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ทันปี 67  โดยกรมสรรพสามิตทำกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอนที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อราคาขายปลีก รวมถึงผู้บริโภค

“ตัวอย่างการคำนวณ เช่น เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้วจะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม ซึ่งสมการคิดของภาษีคาร์บอน คือ นำคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมัน คูณด้วยราคาต่อยูนิต ออกมาเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้นต่อจากนี้ ไทยจะมีภาษีของคาร์บอนอยู่ในสินค้า และเมื่อเก็บภาษีคาร์บอนฯ แล้ว จะเกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนฯต่ำลง เพราะยิ่งปล่อยมลพิษน้อยก็จะเสียภาษีต่ำ แต่หากไม่สนใจ หรือละเลยสิ่งแวดล้อม ต้นทุนภาษีก็ต้องจ่ายสูงขึ้น”  

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ในช่วงพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดใดก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิด สร้างขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตใช้มาตรการสนับสนุนในมิติของรถอีวี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการอีวี 3.3 และอีวี 3.5 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และผลิตรถอีวีชดเชยในประเทศไทย ซึ่งจะมีรถต้องผลิตชดเชยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ไทยสนับสนุนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถอีวี และยังได้สิทธิประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ จะใช้มิติด้านการเงินมาสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว โดยกระทรวงการคลังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  หรือประสานกับธนาคารพาณิชย์ มาเป็นตัวกลางในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในทิศทางที่อยากให้ประเทศนี้ไปได้ เพราะสถาบันการเงินเป็นผู้กำหนดสินเชื่อว่าจะให้ในอัตราดอกเบี้ยเท่าใด และเงื่อนไขรูปแบบใด ฉะนั้น หากเราต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมดังกล่าวก็จะได้รับสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำ หรือมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน โดยกระทรวงการคลังเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ 

”เรามองธนาคารเป็นจุดศูนย์กลาง ในการพัฒนาประเทศไปทางใดทางหนึ่ง ผ่านการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ เราก็พยายามทำเรื่องนี้อยู่“