ปัจจุบัน ชายหาดหลายแห่งของไต้หวัน มีวาฬและโลมาเกยตื้นมากกว่า 100 ตัวต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากกลุ่มนักวิจัย

หลังจากมีการพบเห็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้เกยตื้น อาสาสมัครที่เข้าร่วมการฝึกอบรมเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งจัดโดยสมาคมวาฬและโลมาแห่งไต้หวัน (ทีซีเอส) จะได้รับแจ้งว่าไม่ควรพาสัตว์พวกนี้กลับลงทะเล แต่ให้โทรศัพท์หาหน่วยยามชายฝั่งในทันที เพื่อบอกตำแหน่งที่แน่ชัด

อนึ่ง หน่วยยามชายฝั่งทำงานร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ เช่น ทีซีเอส ในปฏิบัติการฉุกเฉิน ซึ่งมักจะมีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมเข้าร่วมด้วย โดยนายเจิง เฉิง-จง เลขาธิการของทีซีเอส กล่าวว่า เขาค่อย ๆ “ตระหนักรู้ในภารกิจ” หลังจากเข้าร่วมการช่วยเหลือกู้ภัยหลายครั้ง และชี้ให้เห็นว่ามีหลายคนชอบอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และปกป้องธรรมชาติ

น.ส.โจแอนนา หง พนักงานขาย วัย 36 ปี เข้าร่วมการฝึกอบรม หลังเธอเห็น “ภาพที่น่ากลัว” ของหลอดพลาสติกที่ถูกดึงออกจากจมูกของเต่าที่ได้รับการช่วยเหลือ

“ถ้าเราไม่มาเรียนรู้ เราก็จะทำตามความคิดของตัวเอง ซึ่งมันอาจก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าเดิมได้ หากเราไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง” หง กล่าวเพิ่มเติม “ฉันอยากพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้พวกมันมีชีวิตรอด”

ด้านนายหยาง เว่ย-เฉิง ผู้สันทัดกรณีด้านการอนุรักษ์วาฬและโลมา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน กล่าวว่า ทางการไต้หวันเริ่มรายงานการเพิ่มขึ้นของสัตว์ที่เกยตื้น ช่วงประมาณปี 2559 เมื่อมีการพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกยตื้น 90 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก “ไม่กี่สิบตัว” ในช่วงหลายปีก่อนหน้า โดยเขาชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิผิวนํ้าทะเลที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนและมลพิษอื่น ๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้วาฬและโลมาเกยตื้นมากขึ้น

ขณะที่ นางลินด์เซย์ พอร์เตอร์ รองประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ ของคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ (ไอดับเบิลยูซี) ระบุว่า สาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้วาฬและโลมาทุกสายพันธุ์ทั่วโลกตาย คือ การจับสัตว์นํ้าพลอยได้ ส่วนเสียงรบกวนใต้นํ้าที่เพิ่มขึ้น เช่น เสียงจากกิจกรรมทางทหารของกองทัพเรือ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งเช่นกัน

แม้สาเหตุการเกยตื้นของวาฬและโลมาในไต้หวัน ยังคงไม่ชัดเจน แต่พอร์เตอร์กล่าวว่า ข้อมูลที่รวบรวมบนเกาะไต้หวันเป็นของจริง มากกว่าความถี่ในการรายงานที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ สภาพอากาศอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วย โดยหลังจากไต้ฝุ่นแคมี พัดถล่มไต้หวันในช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โลมา, วาฬ และเต่าทะเล 15 ตัว ถูกพัดมาเกยตื้นบนชายหาดทั่วเกาะ ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์

ตามข้อมูลของทีซีเอส วาฬและโลมาที่เกยตื้นในไต้หวัน ส่วนใหญ่ตายเพราะพวกมันป่วยอยู่แล้ว หรือเป็นเพราะความเครียดจากการกลับสู่ท้องทะเล

ทั้งนี้นายเจิงหวังว่า ผู้ที่เข้าร่วมการฝึกอบรมจะถ่ายทอดความรักและความรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเล ให้กับเพื่อนและครอบครัวของพวกเขา เพราะคิดว่า คนกลุ่มนี้จะค่อย ๆ มีอิทธิพลต่อคนรอบตัว และช่วยขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทางทะเลของไต้หวันให้ก้าวหน้าต่อไปได้.