รัฐบาลชุดใหม่ของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เดินเครื่องทำงานได้ไม่ทันไร ก็เริ่มเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆมากมายต่อตัวนายกรัฐมนตรี และองคาพยพทั้งหลาย

รวมถึงนโยบายสำคัญๆ หลายเรื่องที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม ชูเป็นธงนำ ขลุกขลัก ติดขัดตลอดทาง ยากที่จะผลักดันได้สำเร็จสวยงามตามคำโฆษณาก่อนหน้านี้

นโยบายเติมเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัล วอลเล็ต ถูกปรับเปลี่ยนเนื้อในต่างๆมากมายจากสารพัดปัจจัยและอุปสรรคต่างๆ ทำให้ประชาชนที่หวังจะได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐ เกิดความสับสนวุ่นวายในการติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้  

และจากที่รัฐบาลซึ่งนำโดย “เพื่อไทย” ตั้งแต่ยุคของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” จนมาสู่ยุคปัจจุบันของ “นายกฯแพทองธาร” โปรโมตมาต่อเนื่องว่าโครงการนี้จะสร้างแรงกระตุ้นราวกับพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้แน่ แต่จากเดินหน้าแบบขลุกขลัก ส่อแววตามคำปรามาสของ “พรรคประชาชน” ที่ชี้ว่าจะเป็นแค่ “หย่อมความกดอากาศต่ำ

แม้แต่นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวันให้อยู่ที่ 400 บาท สุดท้ายก็ไม่ทันเดตไลน์ตามที่วาดไว้ว่าจะเริ่มได้วันที่ 1 ต.ค.2567 สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดตั้งคำถามเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนต่อฝีมือของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้นำประเทศ

ในเมื่อรัฐบาลยังไม่สามารถโชว์ฝีมือการทำงานให้พอให้เห็นวี่แววการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนยังเป็นเรื่องด่วน แต่พรรคการเมืองต่างๆ กลับเคลื่อนไหวคึกคักผลักดันการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศ อย่าง“รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ย่อมทำให้สาธารณชนมองว่านักการเมืองห่วงเรื่องความเป็นอยู่ของตัวเองมากกว่าของประชาชน แตกต่างกับช่วงเวลาโปรยยาหอมขอคะแนนเสียงในการเลือกตั้งว่า ปากท้องของพี่น้องชาวไทยสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ประชาชนต้องอยู่ดีกินดี มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

และยิ่งเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราที่ปรับแก้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรมซึ่งใช้บังคับครอบคลุมถึงบรรดาผู้บริหารประเทศ สส. และ สว. แม้ยกเหตุผลว่าเพื่อป้องกันการหยิบใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง และไม่เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมว่าเป็นเรื่องที่นักการเมืองก็ทำเพื่อตัวเอง

บางพรรคการเมืองไหวตัวทัน อย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติที่คงคาดการณ์ล่วงหน้าถึงกระแสตีกลับที่ว่านี้ จึงรีบชิงจังหวะ ชิ่งหนีเพื่อนๆพรรคร่วมรัฐบาล หันหัวเรือหนีออกทันใด ไปแสดงตัวต่อสาธารณะว่าคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่แตะต้องเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และด้วยสถานการณ์ภัยพิบัติขณะนี้ควรไปช่วยเหลือประชาชนก่อนจะดีกว่า

งานนี้ พรรคเพื่อไทยที่ถือเป็นแกนนำรัฐบาลแท้ๆ แต่ถูกมองว่าโดนลบเหลี่ยม และไม่ใช่ผู้คุมกระดานการเมือง และยังต้องเผชิญเกมซับซ้อนจากเพื่อนร่วมรัฐนาวา เป็นความท้าทาย “รัฐบาลแพทองธาร” ที่ต้องเร่งหาทางแก้มือโดยด่วน