สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองหลานโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่า เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ในอุทยานธรณีโลกหลินเซี่ย ในแคว้นปกครองตนเองหลินเซี่ย ของกลุ่มชาติพันธุ์หุย พบรอยเท้าเหล่าดังกล่าว ภายในพื้นที่ของอุทยาน หลังฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รอยเท้าเหล่านี้ปรากฏบนพื้นผิวหินที่ผุกร่อน
รศ.สิง ลี่ต๋า จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า รอยเท้ารูปแบบนี้ถูกพบบริเวณแอ่งซื่อชวนของจีนเป็นครั้งแรก ก่อนที่ต่อมาจะมีการค้นพบในมณฑลซานตง และในประเทศเกาหลีใต้
การค้นพบรอยเท้าล่าสุดในแคว้นปกครองตนเองหลินเซี่ย บ่งชี้ให้เห็นการกระจายตัวของรอยเท้าเหล่านี้เป็นวงกว้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และมีนัยสำคัญต่อการศึกษาลำดับชั้นหินตามชีวภาพ อายุทางธรณีวิทยา และความหลากหลายของไดโนเสาร์ในภูมิภาคเหล่านี้ อีกทั้งมอบมุมมองใหม่ เกี่ยวกับการที่ไดโนเสาร์มีขนาดตัวเล็กลง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่การวิวัฒนาการไปสู่นก
นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์มากกว่า 2,000 รอย ในอำเภอหย่งจิ้ง ของแคว้นปกครองตนเองหลินเซี่ย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีวิทยาที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มรอยเท้าไดโนเสาร์หลิวเจียเสีย”
รอยเท้าที่ได้รับการค้นพบใหม่ บ่งชี้ว่าเจ้าของร่องรอยไม่ใช่ไดโนเสาร์สายพันธุ์ซึ่งเคลื่อนที่รวดเร็ว นอกจากนั้น พื้นผิวหินยังมีริ้วคลื่นชัดเจน แสดงให้เห็นว่ากลุ่มไดโนเสาร์ขนาดเล็กเคยใช้ชีวิตอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และพบรอยเท้าของนกน้ำจำนวนมากอยู่ข้าง ๆ ซึ่งเป็นการผสมผสานที่สอดคล้องกับการค้นพบในภูมิภาคแห่งอื่น
นอกจากนั้น รอยเท้าเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนถึงนิสัยและพฤติกรรมของไดโนเสาร์ แต่ยังเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของไดโนเสาร์กับสิ่งแวดล้อมรอบข้างอีกด้วย.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA