วันนี้ (1 ส.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัย ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.- 1 ส.ค. 67 ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 11,518 ครัวเรือน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานและติดตามการเข้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ซึ่งได้บูรณาการระดมสรรพกำลังช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง พร้อมทั้งนำเครื่องจักรกลและอุปกรณ์เข้าแก้ไขปัญหาและบรรเทาความรุนแรง ควบคู่กับการสำรวจความเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาต่อไป และจากข้อมูลสถานการณ์สาธารณภัย ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. มีจังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบ ดังนี้
1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันนี้ เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากและดินสไลด์ในพื้นที่ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เบื้องต้นส่งผลให้ดินสไลด์ บริเวณถนนดอยสันฟ้า ตำบลผาบ่อง และต้นไม้ล้มทับปิดเส้นทางการจราจรบริเวณดอยกิ่วหก ระหว่างบ้านห้วยทรายขาว จุดผ่อนปรนการค้าชาชายแดนช่องทางบ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา รถทุกชนิดยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหาย อำนวยความสะดวกด้านการจราจร และนำเครื่องจักรกลเข้าเปิดเส้นทางสัญจร ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว รถทุกชนิดสามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ตามปกติแล้ว
2. จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. – 1 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำในลำห้วยนกแลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ตำบลพระธาตุ และตำบลแม่ระมาด อำเภอแม่ระมาด เบื้องต้นส่งผลให้น้ำเข้าท่วมโรงอาหารภายในโรงเรียนห้วยนกแล พื้นที่การเกษตร และพืชผลการเกษตรได้รับความเสียหาย อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตาก อำเภอแม่ระมาด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าสำรวจความเสียหาย และปิดการจราจรชั่วคราวบริเวณถนนเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ซึ่งพบว่าน้ำกัดเซาะเสียหายไม่สามารถสัญจรได้ และจัดชุดเฝ้าระวังบริเวณสะพานข้ามลำห้วยแม่จะเรา ซึ่งพบว่าน้ำกัดเซาะบริเวณคอสะพาน แต่ยังสามารถใช้สัญจรได้ และได้มีการนำเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์จำนวน 1 ลำ เคลื่อนย้ายผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และสูบน้ำท่วมขังในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันน้ำในลำห้วยแม่ระมาดลดลงอยู่ในระดับตลิ่ง แต่ยังมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ สถานการณ์อยู่ในภาวะเฝ้าระวัง
3. จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่ วันที่ 29 ก.ค. – 1 ส.ค. 67 เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ ตำบลบุฝ้าย ตำบลประจันตคาม และตำบลหนองแก้ว อำเภอประจันตคาม ตำบลนาดี ตำบลสะพานหิน ตำบลลำพันตา ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี ตำบลกบินทร์ ตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 516 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร (นาข้าว) 500 ไร่ สุกร 13 ตัว ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือชนย้ายสิ่งของยกของขึ้นที่สูง ขนย้ายปศุสัตว์ และดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่สูง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
4. จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ วันที่ 27 ก.ค. – 1 ส.ค. 67 เกิดฝนตกต่อเนื่องและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอนายายอาม อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอท่าใหม่ เบื้องต้นส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3,593 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 16,853 ไร่ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เพศหญิง) อายุ 11 ปี สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากจมน้ำ โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 17 จันทบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี สนับสนุนรถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 1 คัน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 1 คัน รถตรวจการณ์ 1 คัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือ ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 17 จันทบุรี สนับสนุนรถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 1 คัน รับถุงยังชีพ จำนวน 100 ชุด เพื่อมอบถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม และดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
5. จังหวัดตราด วันที่ 26 ก.ค. – 1 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อำเภอเขาสมิง และอำเภอเมืองตราด เบื้องต้นส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 80 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร 26,325 ไร่ เป็ด/ไก่ 37,000 ตัว สถานที่ราชการ 3 แห่ง เรือล่ม 5 ลำ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 17 จันทบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด หน่วยทหารในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนจิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น และดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 ตนได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง พบประชาชนมีขวัญกำลังใจดีจากการดูแลของเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชนจิตอาสาจากทุกภาคส่วน สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
“สำหรับการคาดการณ์ลักษณะอากาศ พยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา ประจำวันที่ 1 ส.ค. 67 เวลา 17.00 น. พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีแนวลมพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกและอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออกเอียงเหนือมือมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มสำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและทะเลอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง คลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ พร้อมได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุอุทกภัย พร้อมเตรียมเครื่องมือและเครื่องจักรกลในพื้นที่เคยเกิดเหตุและพื้นที่เสี่ยง พร้อมกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดติดตามสภาพอากาศ และตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ครอบคลุมทั้งหน่วยงานด้านการพยากรณ์ หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนฝ่ายปกครองในพื้นที่ ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และเหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดสาธารณภัยในช่วงฤดูฝน รวมทั้งวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับ และประสานหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่เข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ ฝ่าย พนังกั้นน้ำ การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงถึงกัน และให้ความสำคัญกับการสื่อสารสังคมด้วยการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ทั้งสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน และช่องทางการขอรับความช่วยเหลือในทุกเรื่อง
“ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารสถานการณ์อุทกภัย ตลอดจนการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด จนกว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้รู้เท่าทันเหตุการณ์อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติหรือต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนรินภัย 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัดอำเภอประจำตำบล นายอำเภอ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย