เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีชาวบ้านจากอำเภอต่างๆ ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ กว่า 100 คน เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากได้ทำฌาปนกิจกับ “โครงการเอื้ออาทรภายใต้การดำเนินกิจกรรมขององค์กรพัฒนาอาชีพการเกษตรเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา หมู่ 10” แต่ปรากฎว่าเมื่อเสียชีวิตแล้วกลับไม่ได้รับเงินตามที่ให้ไว้ในสัญญา มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
นางคำเพียร มากมา อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ 9 ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนได้รับการเชิญชวนจากตัวแทนเพื่อให้เข้าร่วมในโครงการนี้ โดยบอกว่าไม่มีการจำกัดอายุ จะเอาใครมาทำประกันก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเสียเงินค่าประกันปีละ 2,500 บาท ถ้าเสียชีวิตหลังจากเข้าโครงการไปแล้วมากกว่า 6 เดือนก็จะได้รับเงิน 50,000 บาท แต่ถ้าเข้าโครงการมากกว่า 1 ปี เมื่อเสียชีวิตก็จะได้เงิน 1 แสนบาท และถ้าเข้าโครงการแล้วตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปเมื่อเสียชีวิตก็จะได้รับเงิน 3-4 แสนบาท ตนจึงสมัครให้กับญาติ ปรากฏว่าเมื่อญาติเสียชีวิต ซึ่งตามกติกาตนจะต้องได้รับเงิน 4 แสนบาท จึงได้นำเอกสารไปยื่นกับตัวแทน กระทั่งบัดนี้ผ่านไปหลายเดือนแล้วยังไม่ได้รับเงินเลยแม้แต่บาทเดียว โทรทวงถามไปยังประธานองค์กรก็ได้แต่บอกว่าเงินยังไม่เข้าบัญชี
“ล่าสุดเมื่อปลายเดือนที่แล้วก็โทรไปทวงถามอีก ก็รับปากว่าจะได้รับต้นเดือน ก.ค. 67 แต่ก็ยังไม่ได้รับ เมื่อโทรไปทวงก็บอกแค่เพียงว่าเงินยังไม่เข้าบัญชีให้รอไปก่อน จากการพูดคุยกับหลายๆ คน ทำให้รู้ว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับเงินเช่นเดียวกัน จึงได้นัดหมายกันมายื่นหนังสือเรียกร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม” นางคำเพียร กล่าว
นายธรวิวรรธน์ พันธ์เจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้ให้ผู้เสียหายรวบรวมรายชื่อ จากนั้นก็จะทำการแยกเป็นรายอำเภอ เพื่อประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต่างๆ ในการดำเนินการสอบสวนผู้เสียหาย เพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าไม่มีการจดทะเบียนเป็นฌาปนกิจใดๆ จึงเข้าข่ายความผิดฌาปนกิจสงเคราะห์ รวมทั้งฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และมีการโฆษณาชวนเชื่อตามงานศพต่างๆ โดยพฤติกรรมก็ คือ ศพแรกๆ อาจจะได้เงินตามเงื่อนไข แต่พอเสียชีวิตมากขึ้นก็ได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนไปจนถึงไม่ได้รับเงินเลย ซึ่งในส่วนของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็จะได้ทำการขอความร่วมมือกับผู้นำหมู่บ้าน ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อเข้าไปร่วมโครงการดังกล่าว และหากใครที่หลวมตัวไปสมัครเข้าร่วมโครงการ ก็สามารถไปแจ้งความร้องทุกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อที่จะได้รวบรวมมาดำเนินการพร้อมกันในทีเดียว
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า ในเบื้องต้นหลังจากผู้เสียหายรวบรวมรายชื่อและแยกเป็นรายอำเภอแล้ว จะประสานกับแต่ละ สภ. เพื่อระดมพนักงานสอบสวนไปรับเรื่องร้องทุกกับประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีการนัดหมายและกำหนดวันกันอีกครั้ง.