เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 ก.ค. ที่ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.วรวิทย์ ญาณจินดา ผบก.สปพ. แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาในเครือข่ายยาเสพติด 2 ราย พร้อมของกลาง ยาบ้า 1,306,000 เม็ด แฮปปี้วอเตอร์ (ชนิดผง) 100 ซอง น้ำแฮปปี้วอเตอร์ 201 ขวด รถยนต์ 2 คัน โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง โดยสามารถจับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 602/189 หมู่บ้านอารียา คัลเลอร์ 3 เกษตรนวมินทร์ ถนนลาดปลาเค้า แขวงจระเข้บัว เขตลาดพร้าว กทม. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการขยายผลมาจากการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยการจับกุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า มีกลุ่มผู้กระทำความผิดลักลอบค้ายาเสพติดในพื้นที่ย่านลาดปลาเค้า-รามอินทรา โดยผู้ต้องหา จะเก็บยาเสพติดซุกซ่อนไว้ในบ้านเลขที่ 602/189 หมู่บ้านอารียา คัลเลอร์ 3 เกษตรนวมินทร์ ถนนลาดปลาเค้า แขวงจระเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ และใช้รถยนต์ฮอนด้ารุ่นซิตี้ สีเทา ติดแผ่นป้ายทะเบียน 3ขค 6032 กรุงเทพมหานคร ลักลอบนำยาเสพติดส่งให้กับลูกค้าบริเวณลาดปลาเค้า-รามอินทรา เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสืบสวนติดตามเรื่อยมา
จนกระทั่งวันที่ 3 ก.ค. เวลาประมาณ 19.30 น. ผู้ต้องหาทั้งสองได้ขับรถยนต์เข้ามาจอดที่บ้าน และเข้าไปถือยาเสพติดออกจากบ้าน นำไปวางไว้ภายในรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมเฝ้าสังเกตการณ์ จึงแสดงตัวและขอตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 คน ภายในรถยนต์ตรวจยึดยาบ้าได้ 80,000 เม็ด และภายในบ้านตรวจยึดยาบ้า 1,226,000 เม็ด, แฮปปี้วอเตอร์ (ชนิดผง) 100 ซอง และแฮปปี้วอเตอร์ (ชนิดน้ำ) 201 ขวด
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวต่อว่า ยาแฮปปี้วอเตอร์ (ชนิดน้ำ) มีส่วนผสมของเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นยาเสพติดมาใหม่ ที่เพิ่งมีการแพร่หลายกันในหมู่วัยรุ่นที่ชอบปาร์ตี้ เป็นสีน้ำเงิน รับประทานง่าย มีรสชาติคล้ายน้ำผลไม้ ราคาจะอยู่ที่ขวดละ 2,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงมีความเป็นห่วงในเรื่องของการนำมาผสมในเครื่องดื่ม หากนักท่องเที่ยวคนใดที่ไม่เคยมีความรู้ในเรื่องของยาเสพติดชนิดนี้ ก็อาจจะตกเป็นผู้เสพโดยที่ไม่รู้ตัว
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อหา “ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า และแฮปปี้วอเตอร์ชนิดผงและชนิดน้ำ) โดยการมีไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป.