กรณี นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอสีคางดำ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ก่อนหน้านี้มีรายงานพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ สร้างปัญหาใน 13 จังหวัดของไทย และล่าสุดแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเป็นจังหวัดที่ 14 คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
ชาวบ้านเมืองคอนผวา ‘หมอคางดำ’ ระบาดหนัก ร้องรัฐประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช มอบหมายให้ น.ส.ชอุ่ม สุขช่วย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และเจ้าหน้าที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมากจากพระราชดำริ เนื้อที่รวม 120 ไร่ โดยมีนายบุญเยียน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด นายวรรณไชย แพรกปาน กำนัน ต.ขนาบนาก นายณัฐพงศ์ นาคดำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 และ นายอรรถพล ปฐมสุวรรณกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.ขนาบนาก พบว่ามีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดอาศัยอยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำ ทางประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช จะรายงานไปยังกรมประมง เพื่อให้จัดสรรงบประมาณมาลงให้ดำเนินการ ซึ่งเท่าที่ทราบ ทางกรมประมงเองก็ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ จึงต้องรอประมาณจากรัฐบาลอีกระยะหนึ่ง
นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง กล่าวว่า ในการดำเนินการจำเป็นต้องใช้งบประมาณ เมื่อทางกรมประมงยังไม่สามารถจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนได้ และหากต้องรองบประมาณจากกรมประมง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดก็จะลุกลามขยายพื้นที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ล่าสุดตนได้ประสานกับนายบุญเยียน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด และคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง และทางสหกรณ์ได้ประชุมคณะกรรมการและอนุมัติงบประมาณเบื้องต้น ซึ่งเป็นงบที่สหกรณ์กันไว้ใช้ทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะในชุมชนจำนวน 23,000 บาท นำมาใช้ในโครงการไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากก่อน และจากการที่ น.ส.ชอุ่ม ลงพื้นที่ประชุมหารือร่วมกัน มีมติว่าจะกำหนดพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสียศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จากทั้งหมด 120 ไร่ โดยกันพื้นที่ออกมา 40 ไร่ เพื่อคิกออฟดีเดย์กำจัดปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 ก.ค. 2567 ทั้งการโปรยกากชา 80 กระสอบ และช่วยกันจับปลาหมอคางดำออกจากพื้นที่ 40 ไร่ดังกล่าว หลังจากนี้เมื่อได้รับงบประมาณจากกรมประมง ก็จะมีการขยายพื้นที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันออกไปเรื่อยๆ จนปลาหมอคางดำหมดไปจากพื้นที่
“สำหรับปัญหาการรับซื้อ ที่ตนบอกว่ารับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวบ้านที่ช่วยกันไล่ล่าจับอย่างน้อย กก.ละ 15 บาท นอกจากงบจัดซื้อแล้ว ทางราชการจะต้องจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการให้คนที่ช่วยดำเนินการรับซื้อด้วยอย่างน้อย กก.ละ 3-5 บาท เพราะหากคนที่จะมาช่วยบริหารจัดการรับซื้อเขาไม่มีรายได้อะไร คงไม่มีใครลงมาช่วยดำเนินการแน่ โดยสรุปหากจะรับซื้อ กก.ละ 15 บาท ต้องจัดงบดำเนินการให้ด้วย กก.ละ 3-5 บาท ค่าใช้จ่ายรวมก็จะตกอยู่ที่ กก.ละ 18-20 บาทอยู่ดี ซึ่งกรมประมงอาจจะรับซื้อพร้อมค่าบริหารจัดการไปพร้อมกันใน กก.ละ 20 บาทก็ได้ ส่วนการรับซื้อในสำนักงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากกระราชดำริ (กปร.) กก.ละ 10 บาทนั้น ไม่ได้จัดซื้อตามโครงการหรือมาตรการของกรมประมง แต่เขาซื้อจำนวนจำกัดวันละ 100-200 กก. เพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น” นายไพโรจน์ กล่าวย้ำ.