จากกรณีที่นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งหามาตรการแกไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอสีคางดำ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ก่อนหน้านี้มีรายงานพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ สร้างปัญหาใน 13 จังหวัดของไทย ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ระยอง ราชบุรี จันทบุรี เพชรบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ ชุมพร สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา และล่าสุดแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเป็นจังหวัดที่ 14 คือจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะ 2 อำเภอ คือ อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร ก่อนที่จะลุกลามขยายวงกว้างออกไปทั่วจังหวัด รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง จนทำให้การแก้ปัญหายากมากยิ่งขึ้น โดยทางจังหวัดได้เรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และวางมาตรการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ระบาดลงใต้! “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ สร้างปัญหาใหญ่ใน 14 จังหวัด
แฉเส้นทาง ‘ปลาหมอคางดำ’ ทะลักลงใต้ ผวากินสัตว์น้ำท้องถิ่นเกลี้ยง 14 จว.
คืบหน้าเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง กล่าวว่า ในที่ประชุมที่ผ่านมา ตนได้นำเสนอมาตรการเร่งด่วน อาทิ ให้จังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติ โดยแบ่งพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดอย่างหนัก และสีเหลือง แพร่ระบาดเล็กน้อยเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ห้ามผู้ใดเลี้ยงขยายพันธุ์อย่างเด็ดขาด, ให้จัดชุดไล่ล่าจับปลาหมอคางดำอย่างจริงจังต่อเนื่อง และให้ตั้งจุดรับซื้อ 6 จุด อำเภอปากพนัง 3 จุด อำเภอหัวไทร จะรับซื้อ กก.ละ 15 บาท เพื่อบริโภคและทำลายโดยส่งขายโรงงานปลาป่น ในที่ประชุมอนุมัติงบแก้ปัญหาในเบื้องต้นแค่ 20,000 บาท ซึ่งคงไม่เพียงพอกับการดำเนินการแก้ปัญหากำจัดปลาหมอคางดำอย่างแน่นอน
“อย่างไรก็ตามทราบว่าในขณะนี้จุดรับซื้อของราชการรับซื้อแบบคละไซซ์แค่ กก.ละ 10 บาท ในขณะที่เอกชนบางรายรับซื้อเฉพาะตัวใหญ่ที่ได้ขนาดตามที่กำหนด กก.ละ 20 บาท ตนอยากให้ทางราชการรับซื้อแบบคละไซซ์ กก.ละ 15 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไปออกมาไล่ล่าจับปลาหมอคางดำขาย สร้างรายได้เสริม หากเขาออกไล่ล่าจับได้วันละ 20 กก. อย่างน้อยเขาก็มีรายได้ 300 บาท ประชาชนจากทุกอำเภอก็อาจจะหันมารวมตัวกันไล่ล่าจับปลาหมอคางดำกันมากขึ้น มันก็จะหมดไปจากแห่งน้ำธรรมชาติได้รวดเร็วขึ้น” นายไพโรจน์ กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งประมงน้ำจืด ได้รับผลกระทบเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะตามแห่งน้ำธรรมชาติ ปลาท้องถิ่นแทบไม่เหลือเลย เมื่อก่อนตาม ห้วย หนอง คลอง บึง แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ อ.ปากพนัง หัวไทร จะมีปลาท้องถิ่นหลายชนิด หลายขนาด อาทิ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาชะโด ปลาซิว ประกระดี่ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันมีแต่ปลาหมอคางดำเต็มพื้นที่ ตนเสนอในที่ประชุมและเรียกร้องให้จังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติการแพร่ระบาดของปลาหมดคางดำ โดยอาจจะแยกเป็นสีแดง คือพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรง และพื้นที่สีเหลืองแพร่ระบาดไม่รุนแรงแต่เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง หากประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่สีแดง ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. หรือ เทศบาล เขาจะสามารถจัดงบประมาณสนับสนุนภารกิจไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำได้
“ทราบว่าล่าสุดประมงจังหวัดทำหนังสื่อฉบับร่าง เตรียมเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงนามประกาศเขตพื้นที่แพร่ระบาดปลาหมอคางดำ มองว่าแค่การประกาศเขตพื้นที่แพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เป็นเหมือนการประกาศให้รับรู้และเฝ้าระวัง แต่จะไม่มีผลในทางปฏิบัติเพื่อรวมพลังไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำมากนัก ขอเรียกร้องให้จังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติปลาหมอคางดำ หลังจากนั้นกำหนดวันเวลาอย่างน้อย 10-15 วัน ในการดีเดย์ไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำ เหมือนเมื่อช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่จังหวัดสมุทรสาคร มอบธงสัญลักษณ์พร้อมปล่อยขบวนเรือชาวประมงออกปฏิบัติการ 23 ลำ ในแม่น้ำท่าจีน และปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว 60,000 ตัว พร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ หากไม่เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็ว หากปล่อยล่าช้า สถาการณ์ลุกลามรุนแรงจะยากในการแก้ปัญหา ซึ่งมาตรการและกิจกรรมที่มีการเสนอและตกลงกันในที่ประชุม 5 มาตรการ 10 กิจกรรม จะต้องเร่งนำไปสู่การปฏิบัติจริงโดยเร็วที่สุด เพราะหากไม่ดำเนินการใดๆ อีกไม่กี่เดือนปลาหมอคางดำแพร่ระบาดขยายวงกวางไปทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราชก็เป็นได้ และเมื่อถึงเวลานั้น ทางราชการจะใช้งบประมาณมากขนาดไหน ก็แก้ไขไม่ได้ง่าย ๆ แน่” นายไพโรจน์ กล่าวย้ำในที่สุด.