หลังไทยสร้างประวัติศาสตร์ เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม นับไปอีก 120 วัน นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้จริง หรือประมาณปลายปนี้ ได้ใช้แน่นอน วันนี้ความก้าวหน้าของกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” เริ่มต้นอย่างเด่นชัดในยุโรปเป็นพื้นที่แรก เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2532 ชาวเกย์ในเดนมาร์กหลายคู่สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตได้ตามกฎหมายเป็นครั้งแรกของโลก โดยเป็นการรับรองความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันตามกฎหมาย ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คล้ายคลึงกับคู่สมรสตามธรรมเนียมดั้งเดิม แต่ก็ยังไม่ได้ถือว่าเป็น “คู่สมรส” อย่างแท้จริง
พอมาถึงเดือน เม.ย. 2544 เนเธอร์แลนด์คือประเทศแรกของโลกที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตามกฎหมายจริง ๆ
หลังจากนั้น ประเทศในทวีปยุโรปอีก 20 ประเทศก็เดินตามรอยเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ อันดอร์รา, ออสเตรีย, เบลเยียม, สหราชอาณาจักร, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์ก, มอลตา, นอร์เวย์, โปรตุเกส, สโลวีเนีย, สวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์
นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่ยินยอมให้คนเพศเดียวจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย เช่น อิตาลี, ฮังการี, โครเอเชีย, ไซปรัส, ลัตเวีย, สาธารณรัฐเช็ก, ราชรัฐลิกเตนสไตน์และโมนาโก
ในปี 2566 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินให้ประเทศบัลแกเรีย, โปแลนด์, โรมาเนีย, รัสเซียและยูเครนมีความผิดที่ไม่ยอมรับรองคู่ชีวิตคนเพศเดียวกันตามกฎหมาย
เมื่อข้ามมายังอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก แคนาดาคือประเทศแรกในทวีปอเมริกาเหนือที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2548
ในปี 2558 ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกันตัดสินให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตามกฎหมายทั่วประเทศ หลังจากที่กฎหมายนี้โดนแบนใน 14 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ
ความจริงแล้ว การแต่งงานของคนเพศเดียวกันในสหรัฐเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2514 โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายทำให้คู่แต่งงานเกย์ได้รับทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของประเทศ แต่กว่าพวกเขาจะได้รับการยอมรับตามกฎหมายจริง ๆ ก็ต้องต่อสู้กันตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างยาวนานถึง 5 ทศวรรษ จนได้รับชัยชนะในปี 2562
สำหรับในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกานั้น มีประเทศที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานได้ตามกฎหมายคือ อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลอมเบีย, คอสตาริกา, คิวบา, เอกวาดอร์, เม็กซิโกและอุรุกวัย มีเพียงประเทศโบลิเวียที่รับรองการจดทะเบียนของคู่ชีวิตคนเพศเดียวกัน แต่ไม่ถือว่าเป็นการสมรสตามกฎหมาย
ด้านทวีปเอเชียนั้นมีไต้หวันเป็นพื้นที่แรกที่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันตามกฎหมายในเดือน พ.ค. 2562
เมื่อปีที่แล้ว ศาลสูงของประเทศเนปาลได้ออกคำสั่งศาลชั่วคราวเพื่ออนุญาตให้คนเพศเดียวกันและกลุ่มทรานส์เจนเดอร์สามารถจดทะเบียนรับรองการแต่งงานของพวกเขาได้ ซึ่งในเดือน พ.ย. ของปีนั้นก็มีคู่รักจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศได้รับทะเบียนสมรสตามกฎหมายเป็นคู่แรก
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งศาลที่กำหนดให้รัฐบาลจัดตั้งระบบการจดทะเบียนชั่วคราวแยกออกมาต่างหาก จนกว่าจะมีการออกกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นสมาชิกจากเอเชียเพียงหนึ่งเดียวของกลุ่ม G7 กลับยังไม่มีการรับรองคู่ชีวิตเพศเดียวกันหรือยินยอมให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย แต่รัฐบาลท้องถิ่นหลายเขตเริ่มให้การรับรองประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรส
ประเทศออสเตรเลีย (2560) และนิวซีแลนด์ (2556) เป็นเพียง 2 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปแล้ว
ประเทศเวียดนามเพิ่งยกเลิกกฎหมายที่ถือว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันคือการกระทำความผิดในปี 2558 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าของการรับรองคู่ชีวิตเพศเดียวกันตามกฎหมาย
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐสภาเพิ่งจะลงมติเห็นชอบกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” เมื่อวันอังคาร 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางคือประเทศที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศโดนละเมิดสิทธิมากที่สุด มีอิสราเอลเป็นประเทศหัวหอกในการรับรองการจดทะเบียนของคู่ชีวิตเพศเดียวกัน เพียงแต่ต้องไปจดทะเบียนนอกประเทศ เพราะอิสราเอลยังไม่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย
หลายประเทศในกลุ่มนี้ยังมีกฎหมายที่ลงโทษคู่รักเพศเดียวกันหรือคนที่พฤติกรรมเป็นโฮโมเซ็กชวล โดยมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิตในบางประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ส่วนในทวีปแอฟริกานั้น มีแอฟริกาใต้เพียงประเทศเดียวในทวีปนี้ที่อนุญาตให้คู่รักชาวเกย์แต่งงานกันได้ตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2549
ประเทศอื่น ๆ อีกราว 30 ประเทศในแอฟริกายังคงไม่อนุญาตให้ประชาชนแสดงพฤติกรรมเข้าข่ายโฮโมเซ็กชวล โดยมีประเทศโซมาเลีย, มอริเตเนียและซูดานที่กำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก AFP