เช้านี้มีจดหมายเข้ามาทีโรงพิมพ์เยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นซองหลากสีสายรุ้ง ข้างในมีข้อความแสดงความดีใจ ที่สังคมยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น จนมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเทียบเท่าระดับสากล รวมถึงขอบคุณเดลินิวส์ที่ให้การศึกษา ให้ความรู้ทางวิชาการในเรื่องราวเหล่านี้มายาวนาน ตั้งแต่สมัยคอลัมน์ “เสพสม บ่มิสม ของ หมอนพพร” จนมาถึง คอลัมน์ “สุขสม บ่มิสม อย่างยั่งยืน ของหมอมาร์ค” หรือ Dr.Climate ที่ไม่ใช่ Dr. Climax คุณหมอมาร์ค จึงขอนำจดหมายของ น้อง อ. อดีตทหารเกณฑ์คนดัง ที่ปัจจุบันกำลังเก็บตัวเตรียมประกวด Miss Universe มาเล่าชีวิตส่วนตัว และถามปัญหาเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม
น้อง อ. : คุณหมอมาร์คคะ หนูชื่อ อ. ตอนเกิดมาเป็นเด็กชาย อ. อยู่ในครอบครัวนักวิชาการ คุณแม่เป็นครูอยู่ในกรอบในระเบียบ ตามวิถีประเพณีไทย คุณพ่อเป็นครูศิลปะมีสุนทรียภาพ มีความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ ตอนเด็กๆ หนูมีครอบครัวอบอุ่น และมีความสุขมาก แล้ววันหนึ่งคุณพ่อก็จากไป ขอไปใช้ชีวิตตามที่ใจปรารถนา แล้วทิ้งให้หนูให้อยู่กับคุณแม่ตามลำพัง ตอนนั้นหนูโกรธคุณพ่อมาก พอหนูโตขึ้น คุณแม่อยากให้หนูรับราชการเป็นทหาร หนูไม่ได้เรียน รด. แต่ก็ไปเกณฑ์ทหาร ตอนไปนั่งรอจับสลาก ก็เห็นผู้ชายหลายคนแต่งเป็นผู้หญิงมาเกณฑ์ด้วย สวยมาก หนูชื่นชมในคนเหล่านั้นที่กล้าทำตามจิตใจที่เขาต้องการได้ และในวันนั้นเอง หนูเริ่มไม่แน่ใจว่าหนูเป็นใครกันแน่ แม้ในบัตรประชาชนจะนำหน้าว่านาย
แต่ในจิตใจลึกๆหนูคิดว่าไม่ใช่ หนูชอบของสวยงาม ชอบศิลปะ ชอบแต่งตัวสวยๆ และมักจะรู้สึกดี รู้สึกอบอุ่นเมื่ออยู่กับเพื่อนผู้ชาย ในช่วงฝึกทหารเกณฑ์ หนูรู้สึกอายเมื่อต้องแก้ผ้าอาบน้ำรวมกับเพื่อนๆ มักจะหาเวลาที่ปลอดคน จนถูกเพื่อนล้อเลียนต่างๆ นานา แต่มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ ส. เขามาช่วยปกป้องหนูไว้ และคอยดูแลหนูอย่างทนุถนอม ตั้งแต่วันนั้นเราแทบจะตัวติดกัน ไปฝึกภารกิจร่วมกัน เล่าเรื่องอดีตชีวิตที่ผ่านมา เราทั้งสองต่างเปิดใจให้กันอย่างไม่เคยบอกให้ใครรู้ ณ.จุดนั้นหนูรู้แล้วว่าหนูเป็นใคร คำว่านาย ในบัตรประชาชนไม่มีความหมายอีกต่อไป เมื่อพ้นเกณฑ์ทหารเราต่างคนต่างแยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิตของตน
เราสัญญากันว่าสักวันหนึ่งเมื่อสังคมยอมรับ มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเราจะกลับมาแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เวลาผ่านไปหลายปี หนูร่วมเคลื่อนไหวกับผู้คนมากมายที่คิดและมีความต้องการเหมือนกันทั้งในสภา และนอกสภา จนวันก่อนพวกเราดีใจกันมาก และเฉลิมฉลองใหญ่กัน เมื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวุฒิสภา และเตรียมทูลเกล้าฯ จากนั้นหนู และส. ตัดสินใจเสี่ยงที่จะเดินทางไปขออนุญาตคุณพ่อที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พอไปถึงหนูกลับตกตะลึงและนิ่งไปชั่วขณะ หนูพบว่าคุณพ่อใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนชายอย่างมีความสุข
คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเรื่องนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม พ่อถูกล้อเรียนว่าเป็นตุ๊ด วิปริต ถูกกีดกันในที่ทำงาน ผู้ใหญ่ก็ไม่ปลื้ม ไม่มีทางเติบโตในหน้าที่การงาน อยู่บ้านก็เป็นทุกข์ ที่ต้องเสแสร้งเป็นคนที่เราไม่ได้เป็น จึงตัดสินใจหนีจากหนูและแม่มาเก็บตัวเงียบอยู่ต่างจังหวัด หนูและแม่จะได้ไม่เสียหายตามครรลองของประเพณีสมัยนั้น พอได้ยินพ่อพูดเปิดใจแบบนั้น น้ำตาแห่งความปลื้มปิติก็ไหลออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ และความโกรธแค้นที่เคยมีกับคุณพ่อก็หายไปสิ้น กลับกลายเป็นความสงสารและเห็นใจ ขณะนั้น ส. จับมือหนูบีบเบาๆ แล้วพูดว่า เราสองคนเข้าใจความรู้สึกนั้นครับ เราตกลงกันว่า พวกเรา 4 คน 2 คู่ จะจัดงานแต่งงานตามกฎหมายใหม่พร้อมกัน ขอเชิญคุณหมอมาร์ค มาร่วมงานของหนู กับคุณพ่อด้วยนะคะ และอยากเชิญกล่าวสุนทรพจน์สนุกๆด้วย เล่ามายืดยาว ขอถามคำถามว่า เมื่อไรคุณหมอมาร์คจะเปิดตัว และทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจตัวเองคะ
คุณหมอมาร์ค: ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับน้อง อ. และ ส. ที่ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและมีความรักมั่นคง และขอแสดงความยินดีกับคุณพ่อที่ต้องต่อสู้กับจารีตประเพณีที่ไม่ยอมรับความหลากหลายมายาวนาน ทราบว่าในสภามีผู้เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง หมายความว่า ยังคงมีผู้คนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย และถ้าฟังจากการอภิปรายเราคงจะเข้าใจความคิดของพวกเขา แต่ความหลากหลายทางความคิดก็เป็นสิ่งที่งดงามมิใช่หรือ ผมขอร่วมดีใจที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม และคงเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็มีประเทศเนปาล และไต้หวันที่ออกกฎหมายนำหน้าไปแล้ว พร้อมกับอีก 35 ประเทศทั่วโลก ตอนสมัย หมอมาร์คหนุ่มๆ เพื่อนๆ ชวนไปที่ฮอลแลนด์ เพื่อไปเป็นพยานในการจดทะเบียนของเขาเพราะเป็นประเทศที่เปิดกว้าง และมีกฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2000 อย่างไรก็ตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นแค่เพียงก้าวแรก ยังต้องค่อยๆพัฒนาความรับรู้ของสังคม และขนบธรรมเนียมแบบธรรมดาใหม่ (New Normal) ต้องพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน และยังมีกฎระเบียบ และความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ที่ต้องประสานเพื่อปรับปรุงต่อไป
ขอแสดงความดีใจกับเพื่อนๆ LGBTQIAN+ ทุกท่านที่รอคอยกฎหมายนี้มานาน และขอขอบคุณ คุณหมอ นพพร แห่งคอลัมน์ เสพสม บ่มิสม ที่ให้ความรู้กับสังคมผ่านเดลินิวส์มายาวนาน ผ่านยุคที่สิ่งเหล่านี้ต้องปิดบัง ไม่สามารถแสดงออกในสังคมได้ สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เราต้องช่วยกันพัฒนาต่อไป