เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายรณณรงค์ แก้วเพชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วย น.ส.รัตนาภรณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี อาชีพวิศวกร ผู้เสียหายถูกโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านบางใหญ่ มั่วประวัติการรักษาทั้งที่ไม่เคยแอดมิทจริง แถมเอาไปเบิกประกันสังคมจนเจ้าตัวป่วยจริงแล้วเบิกประกันไม่ได้ มายื่นเรื่องร้องเรียนแก่ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. ให้ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
น.ส.รัตนาภรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากทำประกันภัยบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งไว้ ก่อนประกันได้แจ้งบอกล้างสัญญาเพราะตรวจพบเจอเอกสารว่ามีประวัติไปรักษาก่อนจะมาทำประกัน เมื่อสอบถามเรื่องเอกสารพบว่าได้มาจากโรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งปรากฏข้อมูลว่ารักษาเกี่ยวกับนรีเวช โดยไม่ได้รับการรักษาจริง ทำให้เสียสิทธิเพราะประกันไม่จ่ายเงินตามสัญญา
น.ส.รัตนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ตนทำประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง พอยื่นเอาสิทธิประกันก็บอกล้างหรือเลิกสัญญาอ้างว่า มีประวัติการรักษามาก่อน โดยมีเอกสารฉบับหนึ่งลงวันที่ 21 มิ.ย. 61 ว่า ไปรักษาด้วยอาการประจำเดือนมา ใช้ผ้าอนามัยมากกว่าปกติ และได้ให้เลือดไป 6 ถุง ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้เข้ารับการรักษาแน่นอน ไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคพวกนี้มาก่อน และวันดังกล่าวก็ไม่ได้เข้าโรงพยาบาล แต่เคยไปแอดมิทที่โรงพยาบาลแห่งนี้ด้วยอาการท้องเสีย เมื่อวันที่ 18-19 พ.ค. 61 โดยนอนโรงพยาบาลจริง 1 คืน แต่ตรวจประวัติกลับพบว่า โรงพยาบาลทำประวัตินอนแอดมิท 4 คืน ซึ่งไม่ทราบเหตุผล การนอนโรงพยาบาลครั้งนั้นใช้สิทธิประกันสังคมกับประกันสุขภาพ ยืนยันว่าไม่เคยเข้ารับการรักษา
“เอกสารพบชื่อแพทย์หญิงรายหนึ่ง จึงหาทางติดต่อถามรายละเอียด โดยคุยทางโทรศัพท์ทราบว่า แพทย์รายนี้อยู่ที่ จ.อุบลราชธานี โดยไม่แน่ใจเรื่องไทม์ไลน์ แต่ยืนยันว่าตั้งแต่รักษามาไม่เคยให้เลือดใครมากถึง 6 ถุง โดยแพทย์รายนี้คาดว่าวันที่ 21 มิ.ย. 61 ช่วงนั้นอาจจะยังมีชื่ออยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งโดยมาประจำอยู่ช่วงสั้นๆ มีชื่ออยู่ แต่ตอนนั้นตัวไม่ได้อยู่แล้ว เพราะช่วงปลายเดือน มิ.ย. ได้ลาเพื่อไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น” น.ส.รัตนาภรณ์ กล่าว
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า สบส.มีหน้าที่กำกับดูแลสถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ทราบข่าวเบื้องต้นจากสื่อมวลชนแล้ว ซึ่งกลุ่มได้ให้ทีมงานเข้าไปตรวจสอบความจริงและสถานพยาบาลดังกล่าวพบว่ามีประเด็นที่จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม จึงปรึกษาให้ผู้ร้องมายื่นคำร้องอย่างเป็นทางการกับ สบส. โดยในเนื้อหาสาระ วันเวลาการดูแลผู้ป่วยต้องดูว่าทำจริงหรือไม่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการทำเอกสารเท็จ ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ
จากนั้น ผู้เสียหายและทนายความ ได้เข้าให้ข้อมูลรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป.