ในฐานะประธานาธิบดีโปแลนด์ อำนาจของนาวรอคกีจะอยู่ในกรอบที่จำกัด และเป็นรองจากทัสก์ แต่เขายังคงสามารถขัดขวางวาระการปฏิรูปของรัฐบาลวอร์ซอได้
“แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แม้สถานการณ์ในหลาย ๆ ด้านจะเหมือนกับทุกวันนี้ หลังจากนาวรอคกีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งก็ตาม” นักการทูตอาวุโสคนหนึ่งของอียู กล่าว
ภายหลังการอยู่ร่วมกันอย่างไม่สบายใจเป็นเวลา 2 ปี กับนายอันด์แซย์ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์ที่กำลังจะหมดวาระ ทัสก์หวังว่าชัยชนะของแคนดิเดตของเขา จะทำลายทางตันทางการเมืองของโปแลนด์ได้ในที่สุด แต่ชัยชนะของนาวรอคกีนั้นหมายความว่า ทัสก์จะยังถูกขัดขวางการผลักดันการแก้ไขความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยที่ยาวนานหลายปี ภายใต้การปกครองของพรรคกฎหมายและความยุติธรรม (พีไอเอส)
“มันเป็นหายนะ แต่ไม่ใช่หายนะครั้งใหม่ เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันในโปแลนด์ดำเนินต่อไป” นายดาเนียล เฮเกดุช นักวิเคราะห์จากกองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์ (จีเอ็มเอฟ) กล่าว
อนึ่ง นาวรอคกีคาดว่าจะใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต้ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขัดขวางความพยายามที่จะยกเลิกกฎหมายที่เข้มงวด เกี่ยวกับการทำแท้ง และสิทธิของกลุ่มเพศทางเลือก ก่อนที่โปแลนด์จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปในปี 2570 ส่งผลให้ทัสก์เผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้น ในการจัดการกับความกังวลของฝ่ายบริหารอียูในกรุงบรัสเซลส์ เกี่ยวกับหลักนิติธรรมในโปแลนด์
โปแลนด์ ซึ่งหวาดกลัวต่อภัยคุกคามจากรัสเซีย ให้การสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขัน ภายใต้การนำของทัสก์ ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศเริ่มมีความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลเคียฟมากขึ้น และแนวโน้มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างรวดเร็ว ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยนาวรอคกีวิพากษ์วิจารณ์ยูเครน รวมถึงการผลักดันให้ยูเครนเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และอียู
บนเวทีของอียู อำนาจที่จำกัดของนาวรอคกี ทำให้เขาแทบไม่มีอิสระที่จะเล่นงานความพยายามช่วยเหลือรัฐบาลเคียฟ ซึ่งเฮเกดุชชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจของอียู ไม่จำเป็นต้องนำกฎหมายระดับชาติของโปแลนด์มาใช้ นั่นจึงไม่จำเป็นต้องกลัวว่า โปแลนด์จะกลายเป็นผู้มีอำนาจวีโต้ในการตัดสินของยุโรป
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของนาวรอคกี ก็ได้รับการแสดงความยินดีจากบรรดาผู้นำฝ่ายชาตินิยมของอียู ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ผู้นำฮังการี และถูกยกย่องว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายต่อต้านอียู
ทั้งนี้ นางราโมนา โคแทน ผู้เชี่ยวชาญด้านประเด็นเกี่ยวกับยุโรป จากมหาวิทยาลัยยูแอลบี ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีโปแลนด์ครั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันเน้นย้ำถึง “ความไม่ชอบใจครั้งใหญ่ต่อระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโปแลนด์เท่านั้น แต่แพร่หลายทั่วทวีปยุโรป.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP