ประวัติศาสตร์ของภาษาเวียดนามที่ใช้อักษรโรมัน หรือ “ก๊วกหงือ” เชื่อมโยงกับการมาถึงของคณะมิชชันนารีกลุ่มแรก การล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส และการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์
เหวียน วัย 35 ปี เรียนการเขียนอักษรวิจิตรทุกสัปดาห์ ร่วมกับคนอื่นอีก 6 คน ที่บ้านหลังเล็กของครูของเธอ เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจหลังเลิกงาน ซึ่งเธอกล่าวว่า การเขียนตัวอักษรทำให้รู้สึกเหมือนกำลัง “พูดคุยกับตัวเองภายในจิตใจ”
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เดินทางเยือนเวียดนาม เมื่อช่วงปลายเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา และเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในกรุงฮานอยอย่าง “วิหารวรรณกรรม” ซึ่งกำแพงและแผงคำอธิบายของวิหาร ได้รับการตกแต่งด้วยอักษรวิจิตรศิลป์ ทั้งตัวอักษรที่ได้รับอิทธิพลจากจีนแบบดั้งเดิม และก๊วกหงือ
แม้การล่าอาณานิคมทำให้การใช้ก๊วกหงือแพร่หลาย ซึ่งใช้สำเนียงและสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนพยัญชนะ สระ และน้ำเสียงของภาษาเวียดนาม แต่ชุดแบบอักษรดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน โดยความคิดริเริ่มของคณะบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิก
น.ส.คานห์-มินห์ บุย นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เวียดนามในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 อธิบายว่า ฝรั่งเศสเผยแพร่ตัวอักษรละตินให้กับเวียดนาม ขณะฝึกอบรมข้าราชการที่ช่วยเหลือพวกเขาปกครองอินโดจีน ส่วนแรงจูงใจอีกประการหนึ่งคือ การตัดความเชื่อมโยงกับอารยธรรมเก่าแก่ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชนชั้นสูง ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ “จีน” นั่นเอง
หากเปรียบเทียบกับตัวอักษรที่ใช้กันมานานหลายร้อยปี ก๊วกหงือเป็นชุดแบบอักษรที่เรียนรู้ได้ง่ายกว่ามาก อีกทั้งการนำก๊วกหงือมาใช้ ยังทำให้หนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยม ซึ่งช่วยเผยแพร่แนวคิดต่อต้านอาณานิคม จนนำไปสู่การผงาดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในที่สุด
Vietnam's unique modern script bears the history of the arrival of the first Christian missionaries, French colonial rule, and the rise to power of the Communist Party
— AFP News Agency (@AFP) May 25, 2025
Read more on how Vietnam ???????? adopted the Latin alphabet: https://t.co/a4jeDpW4Kj pic.twitter.com/yCMKHVDsus
“ก๊วกหงือ ให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการศึกษารูปแบบใหม่ และวิธีคิดแบบใหม่” มินห์ กล่าวเพิ่มเติม “เมื่อเวียดนามประกาศเอกราชในปี 2488 การกลับไปเป็นเหมือนเดิม ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจินตนาการได้”
ทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่หลงทางในตรอกซอกซอยของกรุงฮานอย สามารถอ่านชื่อถนนได้ แต่พวกเขาอาจประสบความลำบากในการอ่านออกเสียงอย่างถูกต้อง หากไม่เข้าใจเครื่องหมายกำกับเสียงที่ใช้ถอดเสียงวรรณยุกต์ทั้งหกเสียงในภาษาเวียดนาม
ด้านนายเหวียน ทันห์ ตุ่ง ครูสอนอักษรวิจิตร วัย 38 ปี กล่าวว่า เขาสังเกตเห็นความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อวัฒนธรรมเวียดนามแบบดั้งเดิม และเชื่อว่าความรักต่อสิ่งนี้ อยู่ในสายเลือดและยีนของชาวเวียดนามทุกคน อีกทั้งการเขียนแบบอักษรก๊วกหงือ ช่วยให้เกิดอิสระทางศิลปะมากขึ้น ในแง่ของสี รูปร่าง และแนวคิด
“วัฒนธรรมไม่ใช่ทรัพย์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาค ซึ่งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ต่างยืมคำจากภาษาอื่น ๆ และภาษาเวียดนามก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน” ตุ่ง กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP