กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าล่ามให้ชาวเกาหลี ซึ่งปฏิบัติงานในประเทศไทย และเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่มีเลขเสียภาษี มีแต่พาสปอร์ตเท่านั้น โดยโอนผ่านธนาคารในไทย บริษัทฯ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่อย่างไร

ล่ามชาวเกาหลี เป็นผู้อยู่ในประเทศ ไทยถึง 180 วันในปีภาษี ให้บริการล่ามแปลภาษา เข้าลักษณะเป็นบริการส่วนบุคคลตามข้อ 15 แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

กรณีล่ามชาวเกาหลีเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามในประเทศไทย ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย

ดังนั้น ในกรณีล่ามชาวเกาหลีเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ตาม หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ล่ามคนดังกล่าวเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และ

(ก) อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ ซึ่งรวมแล้วไม่เกินกว่า 183 วัน ในปีรัษฎากรที่เกี่ยวข้อง และ

(ข) เงินได้นั้นจ่ายโดย หรือในนามของบุคคลอื่นที่ไม่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ใน หรือบรรษัทของประเทศไทย และ

(ค) เงินได้นั้น มิได้ตกเป็นภาระแก่สถานประกอบการถาวร ซึ่งบุคคลผู้จ่ายเงินได้นั้นมีอยู่ในประเทศไทย

กรณีดังกล่าว ล่ามชาวเกาหลีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ย่อมได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามข้อ 15 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) .. 2505 บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด.