ไม่ได้มีอะไรเหนือความคาดหมาย มติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เย็นวันเสาร์ที่ 31 พ.ค. 68 พิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 เห็นด้วยมติ 322,ไม่เห็นด้วย 158, ไม่ลงคะแนน 2 (จำนวนผู้ลงมติ 482)
“รัฐบาลมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา โดยคำนึงถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณเพื่อรองรับปัญหาเร่งด่วน สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวทางยุทธศาสตร์ของชาติอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ รวมถึงมุ่งเน้นรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศให้เป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้” เป็นถ้อยคำแถลงบางช่วงบางตอนของ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร กล่าวเอาไว้ หลังสภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฯ ปี 2569
ตลอดเวลา 4 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 28-31 พ.ค. 68 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วาระแรก วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากงบประมาณ 2568 จำนวน 2.79 หมื่นล้านบาท)
ด้วยยุคสมัยเทคโนโลยีก้าวล้ำตลอดเวลา มีส่วนสำคัญทำให้การติดตามดูการประชุมสภาได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ช่องทางออนไลน์ สารพัดแพลตฟอร์ม เข้ามามีบทบาท เผยแพร่กระจายข่าวสารเป็นทางเลือกให้เข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งเว็บไซต์สำนักข่าว หรือของพรรคการเมือง
ที่สำคัญ นักการเมืองรุ่นใหม่ ๆ เริ่มใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูล ตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลในหลาย ๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่อง งบประมาณฯ ที่เพิ่งลงมติก็พยายามย่อยข้อมูลที่น่าสนใจให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่ ได้เห็น องค์รวม “รายรับ–รายจ่าย” เข้าใจง่ายขึ้น ให้มองเป็นเรื่องใกล้ตัว หัวใจสำคัญของ “รายรับ” ประชาชนก็มีส่วนร่วมในการเสียภาษีหลากหลายรูปแบบให้ภาครัฐ
หากไปไล่ดูงบประมาณ ปี 2569 ตั้ง วงเงินไว้สูงถึง 3.78 ล้านล้านบาท (เพิ่มจากปี 68 จำนวน 2.79 หมื่นล้านบาท) “เงินรายรับ” หลัก ๆ จาก เก็บภาษีต่าง ๆ ประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท (77.3%) และอีกส่วนมาจาก กู้เงิน ประมาณ 8.6 แสนล้านบาท (22.3%) ขณะที่ “เงินรายจ่าย” แยกเป็น รายจ่ายประจำ 2.6 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 70.2), รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 1.2 แสนล้านบาท (ร้อยละ 3.3), รายจ่ายลงทุน 8.6 แสนล้านบาท (ร้อยละ 22.9), รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1. 5 แสนล้านบาท (ร้อยละ 4.0) และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ (รายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ) 1 หมื่นล้านบาท
เมื่อชำแหละที่ รายจ่ายประจำ ไปยังงบประมาณ “รายจ่ายบุคลากร” 8.2 แสนล้านบาท (21.7%) ส่วนใหญ่เป็น เงินเดือนของบุคลากรภาครัฐ รวมไปถึงสวัสดิการ บำเหน็จบำนาญ ฯลฯ จำเป็นต้องจ่ายทุกปี อีกทั้งยังสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่า รายรับ ของงบประมาณ จากภาษีที่เก็บจากประชาชน 77.3% ถูกแปรไปใช้ในงบประมาณต่าง ๆ นอกจากเป็น เงินเดือนข้าราชการ แล้ว ยังต้องไป จ่ายลงทุน อีกหลายแสนล้านบาท เพื่อตั้งใช้ในการก่อสร้างสารพัดโครงการมากมาย ทั้งเส้นทางถนน การจัดการน้ำ และก่อสร้างอาคารราชการของหลายหน่วยงาน ฯลฯ
“เงินภาษี” เก็บไปจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชน นับมีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาล-หน่วยงานภาครัฐ จำเป็นต้องร่วมกันรับผิดชอบใส่ใจเป็นพิเศษ ใช้ทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง!!.
…………………………………….
เชิงผา