แมวสีส้มหรือที่เรามักจะเรียกกันว่า ‘แมวส้ม’ มักจะโดนคนรักแมวหรือ ‘ทาสแมว’ มองว่าเป็นแมวสุดแสบที่ทั้งเป็นมิตรและทั้งดื้อรั้นเป็นพิเศษ แต่สำหรับนักพันธุศาสตร์แล้ว ความพิเศษของแมวส้มอยู่ที่สีขนอันไม่ธรรมดาของมัน 

เมื่อไม่นานมานี้ มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาแมวส้มและกล่าวว่า พวกเขาได้ไขปริศนาที่สืบต่อกันมายาวนานของกระบวนการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอซึ่งทำให้ขนของพวกมันกลายเป็นสีส้ม ซึ่งยังไม่เคยพบว่ามีการกลายพันธุ์ในลักษณะดังกล่าวในสัตว์ชนิดอื่น

การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกในเอกสารที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมาในวารสาร Current Biology

“นี่เป็นการกลายพันธุ์ประเภทที่แปลกมาก” คริสโตเฟอร์ เคลิน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในแคลิฟอร์เนีย ผู้เขียนหลักของรายงานการศึกษากล่าวแสดงความเห็น

แมวสีส้มส่วนใหญ่เป็นตัวผู้ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์เมื่อหลายสิบปีก่อนสรุปว่า รหัสพันธุกรรมของสีส้มนั้นถ่ายทอดผ่านโครโมโซม X 

แมวตัวเมียก็เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ พวกมันมีโครโมโซม X สองตัว ในขณะที่แมวตัวผู้จะมีโครโมโซม X หนึ่งตัวและโครโมโซม Y หนึ่งตัว ในแมวตัวผู้ที่มีขนสีส้มจะมีเพียงโครโมโซม X ที่มีข้อมูลพันธุกรรมของขนสีส้ม ส่วนแมวตัวเมียขนสีส้มจะต้องสืบทอดลักษณะดังกล่าวจากโครโมโซม X ทั้งสองตัวของมัน ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะเกิดแมวตัวเมียที่มีขนสีส้มได้น้อยกว่า นอกจากนี้ แมวตัวเมียส่วนใหญ่ที่มีขนสีส้มจะมีลวดลายกระจายเป็นหย่อมๆ เช่น ลายกระดองเต่าหรือลายเปรอะ ซึ่งอาจขนสีดำและสีขาวรวมอยู่ด้วย

แต่การกลายพันธุ์บนโครโมโซม X เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำให้เกิดสีส้มได้อย่างไรนั้นยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ โดยปกติแล้ว การกลายพันธุ์ที่ทำให้ขนของสัตว์มีสีเหลืองหรือสีส้ม (และผมสีแดงของมนุษย์) จะเกิดขึ้นภายในยีนที่ควบคุมสีขน และยีนเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏอยู่บนโครโมโซม X แต่ของแมวกลับใช้โครโมโซมเป็นตัวถ่ายทอดข้อมูลขนสีส้ม

เคลินได้รวบรวมข้อมูลดีเอ็นเอของแมวบ้านสีส้มจำนวนมากในช่วงเวลากว่าทศวรรษแล้วนำมาเปรียบเทียมกับข้อมูลดีเอ็นเอของแมวทั่วไปที่มีการถอดรหัสในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เขาและทีมวิจัยพบรูปแบบทางพันธุกรรม 51 แบบบนโครโมโซม X ที่มีเหมือนกันในกลุ่มแมวตัวผู้สีส้ม แต่ในจำนวนนี้ มีอยู่ 48 รูปแบบที่พบในแมวที่ไม่ใช่สีส้มด้วย ซึ่งทำให้เหลือ 3 รูปแบบที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นต้นกำเนิดการกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดขนสีส้ม

หนึ่งในนั้นคือรูปแบบที่ลบคู่เบสขนาดเล็ก 5,076 คู่ออกไป ซึ่งเป็นการลบโครโมโซม X ออกไปประมาณ 0.005% ที่อยู่ระหว่างยีน Arhgap36 ซึ่งปกติจะควบคุมการส่งสัญญาณของฮอร์โมน ยีนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดสี แต่การกลายพันธุ์ทำให้ Arhgap36 ทำงานในเซลล์เม็ดสีได้ โดยไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีสีดำและผลิตเม็ดสีสีส้มแทน 

มีหลักฐานของแมวสามสีซึ่งมีสีส้มรวมอยู่ด้วยในภาพวาดโบราณของจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 12

การกลายพันธุ์นี้คาดว่าเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในระหว่างกระบวนการปรับตัวของแมวจากสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ รูปแบบการกลายพันธุ์ที่ให้ขนสีส้มนี้ถูกคัดเลือกและสืบทอดต่อมาตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยมีหลักฐานเป็นภาพวาดแมวสามสีซึ่งมีขนสีส้มรวมอยู่ด้วยในศิลปะจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 

การค้นพบนี้ไม่เพียงไขปริศนาการเกิดขนสีส้มของแมว แต่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับกลไกการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์อันเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอได้ 

ส่วนบุคลิกสุดพิเศษของแมวส้มนั้น นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า พวกมันมีลักษณะนิสัยอันโดดเด่นเพราะมีขนสีส้มตามความเชื่อของเหล่าทาสแมว

ที่มา : edition.cnn.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES