สภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 28-31 พ.ค.68 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ในวาระที่ 1 (พิจารณารับหลักการ) วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2568 จำนวน 27,900 ล้านบาท (ร้อยละ 0.7%)

เป็นงบประมาณขาดดุล 860,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงจากปี 2568 ที่มีการขาดดุลงบประมาณร้อยละ 4.5 ต่อ GDP คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้สุทธิ 2,920,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 33,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

โครงสร้างงบประมาณปี 2569 มีรายจ่ายสำคัญ ประกอบด้วย 1.รายจ่ายประจำ 2,652,301.29 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2568 จำนวน 28,135.25 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.0 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.2 ของวงเงินงบประมาณรวม

2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 123,541.06 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของวงเงินงบประมาณรวม

3.รายจ่ายลงทุน 864,077.21 ล้านบาท ลดลงจากปี 2568 จำนวน 68,284.90 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.9 ของวงเงินงบประมาณรวม

4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 151,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2568 จำนวน 1,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7

สำหรับ 5 อันดับ ที่ได้รับงบประมาณสูงสุด ได้แก่ 1.งบกลาง 632,968 ล้านบาท (อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะบริหารจัดการตามความจำเป็น-เร่งด่วนในภาวะฉุกเฉิน) 2. กระทรวงการคลัง 397,856 ล้านบาท 3.กระทรวงศึกษาธิการ 355,108 ล้านบาท 4. กระทรวงมหาดไทย 301,265 ล้านบาท 5.กระทรวงกลาโหม 204,434 ล้านบาท

เมื่อมีการจัดทำงบประมาณแต่ละปี “พยัคฆ์น้อย” จะดูที่ 3 ตัวหลัก คือ 1.ขาดดุลเท่าไหร่ตัวเลขสูงเพราะอะไร 2.รายจ่ายประจำพุ่งขึ้นเท่าไหร่ สูงขึ้นหรือลดลงจากปีก่อน และ 3.รายจ่ายสำหรับลงทุนเหลือเท่าไหร่

น่าห่วง! รายจ่ายประจำ ส่วนใหญ่เพื่อบุคลากรภาครัฐ (เงินเดือนบำเหน็จบำนาญสวัสดิการต่าง ๆ) โดยเฉพาะข้าราชการเพิ่มจาก 1,655,354 คน ในปี 2557 เป็น 1,756,259 คน ในปี 2566

ปี 2569 ได้รับจัดสรรงบ 820,820.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 20,137.8 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งค่าใช้จ่ายบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำให้รายจ่ายบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี (ระบบสาธารณสุขดีอายุยืน) โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ถ้าไม่สามารถควบคุมจำนวนบุคลากรภาครัฐ จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินการคลังในอนาคต

เมื่อรายจ่ายประจำปาเข้าไปร้อยละ 70.2 มีรายจ่ายสำหรับลงทุนแค่ร้อยละ 22.9 แล้วจะทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ? รัฐก็ต้องเร่งทำเมกะโปรเจกต์เก่า-ใหม่ ดึงเอกชนในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้น GDP ขยับขึ้นไปที่ระดับ 4-5% ลำบาก!!.

……………………………………….
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…