หลายต่อหลายคนยังทำมึนมองไม่เห็นปัญหาจากบุหรี่ไฟฟ้า เพียงเพราะผลกระทบต่อสุขภาพนั้นยังมาไม่ถึงตัว ทั้ง ๆ ที่มี การศึกษาสถิติพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของคนไทย ปี 2567 พบข้อมูลที่น่าตกใจ คือมีผู้สูบหน้าใหม่ถึง 900,459 คน จากเดิมเมื่อปี 2564 ยังอยู่ที่ 78,742 คน สถิติกระโดดขึ้นมาถึง 11.44 เท่า เรียกได้ว่า ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะคุกคามจากสารเสพติด

ทั้งนี้ บนเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน พื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา เพื่อระดมความคิดให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งภาคใต้มีประชากรสูบบุหรี่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 2 ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รองลงมาจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ระบุว่า สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้า ขณะนี้กำลังลุกลามสู่สังคมไทยเข้าขั้นวิกฤติ
จากการสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2565 มีพฤติกรรมการสูบมากถึง 5.3 เท่า ซึ่งถูกกระตุ้นจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบ บุหรี่ไฟฟ้า GEN6 “พอดจมูก” แบบใช้แล้วทิ้ง สูดทางจมูกเหมือนยาดม มีหน้าตาคล้ายของเล่น สามารถหาซื้อขายได้ทางออนไลน์ มีกลิ่นรสหอมหวาน มีควันบาง ๆ แต่หากสูดผ่านจมูกแล้วจะได้รับนิโคตินถึง 5%
“สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน อ้างอิงจากผลการสำรวจของหน่วยงานต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าแม้จะผิดกฎหมาย แต่กลับพบนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว ในอนาคตคนไทยอาจจะต้องเตรียมตัวเก็บเงินก้อนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการป่วยที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ สูงถึง 1 แสนล้านบาท แต่ที่น่าตกใจกว่าคือมีผู้ป่วยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและต้องใช้เงินรักษาระยะยาวสูงถึง 306,636,973 บาท”
ปัจจุบัน ไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 4 ฉบับ 1.คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2568 ห้ามขายและห้ามให้บริการ ทั้งบารากู่ดั้งเดิม บารากู่ไฟฟ้า ตัวยาบารากู่ดั้งเดิม น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า/บุหรี่ไฟฟ้า 2.พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ห้ามสูบในสถานที่สาธารณะ 3.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 ห้ามนำเข้าสินค้า 3 ประเภท บารากู่ดั้งเดิม บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า และ 4.พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ห้ามลักลอบหนีพิธีการศุลกากร และห้ามรับซื้อสินค้าหนีพิธีการศุลกากร กฎหมายเหล่านี้ประชาชนสามารถนำมาเป็นเครื่องมือปกป้องตัวเองจากผู้สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือสามารถอ้างอิงบอกกล่าวตักเตือนกันเองได้

“เราสูญเสียประชากรไทยประมาณ 6,000 คน จากควันบุหรี่มือสอง สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าคนไทยเสี่ยงตายทางอ้อมโดยไม่รู้ตัวอย่างร้ายแรง”
เวทีเดียวกันนี้ น.ส.นูรีย๊ะ สิการาเสาะ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักปลัด อบต.บาโงย อ.รามัน จ.ยะลา ให้ข้อมูลว่า คนในพื้นที่ตำบลบาโงย มีอัตราการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น และในจำนวนนี้กลับพบว่าเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดคนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในความเสี่ยงใหม่ที่หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่กำลังเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ หลายคนเพิ่งพบโรคมะเร็งร้าย หลังคนที่สูบเลิกสูบแล้วแต่กลับทิ้งร่องรอยความเสียหายกับร่างกายของอีกคน หนำซ้ำเด็กเยาวชนในพื้นที่กลับเสี่ยงต่อการตกเป็นทาสบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย หลังพบช่องทางออนไลน์กลายเป็นจุดหละหลวมทำให้การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าง่ายขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่มีภาวะความเสี่ยงหรือไม่ก็อาจจะติดบุหรี่เยอะพอสมควรส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ซึ่งจากการสำรวจในพื้นที่พบว่า วัยทำงานเพศชายส่วนใหญ่ติดบุหรี่สูงมาก ที่น่ากังวลคือ บุหรี่ไฟฟ้าลุกลามไปถึงกลุ่มน้อง ๆ ที่เป็นวัยประถมศึกษาด้วย เพราะมีโทรศัพท์ซึ่งเขาสามารถดูและเลือกสินค้าได้แบบที่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ตามไม่ทัน สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องผ่านผู้ใหญ่
นางสาวนูรีย๊ะ ยังกล่าวอีกว่า หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่บาโงย ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการดำเนินการควบคุมบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างอิงหลัก 5 องค์ประกอบของ Ottawa Charter โดยเฉพาะการสร้างนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมสุขภาพ คือ 1.ประกาศนโยบายองค์กรปลอดบุหรี่ โดยมีผู้บริหาร อบต. เป็นต้นแบบที่ไม่สูบบุหรี่ 2.ประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพบาโงยซือญาตี ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2565 กำหนดชัดเจนเรื่อง “การลดอัตราการสูบบุหรี่ในชุมชน” เป็นกติกาสังคมร่วมกัน
3.จัดทำ MOU ความร่วมมือระดับตำบล ระหว่าง อบต. สถานศึกษา รพ.สต. และผู้นำศาสนามีการกล่าวคำปฏิญญาเลิกบุหรี่ และกิจกรรมรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลกทุกปี และ 4.ใช้กลไกศาสนา สกัดนักสูบหน้าใหม่ ผู้นำศาสนาเป็นต้นแบบเลิกบุหรี่และใช้หลักศาสนาอิสลามในการ “เตือนสติ” โดยประกาศว่า “บุหรี่คือหะรอม” และเพิ่มจุดบริการคลินิกช่วยเลิกบุหรี่ สำหรับผู้ต้องการเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่าหากมีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนในทุกชุมชนผ่านแผนดำเนินงานของ สสส. ที่สานพลัง อปท. จะยิ่งเกิดการตระหนักรู้พิษภัยบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าที่เข้าถึงทั้งในครอบครัว ชุมชน ได้มากขึ้นเพื่อให้ทุกคนหยุดเป็นเหยื่อบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า.