สะพานข้ามแม่น้ำยาลูแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ที่เชื่อมกับพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาหลีเหนือนั้น ได้รับการก่อสร้างแล้วเสร็จมานานกว่า 10 ปี แต่จนถึงตอนนี้ ยังคงไม่มีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ สะพานจึงอยู่ในสภาพถูกทิ้งร้างตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567
แม้หลังจากนั้นจะมีการก่อสร้างอาคารศุลกากรบนฝั่งเกาหลีเหนือ ตลอดจนมีการก่อสร้างและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่โดยรอบ ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสะพานข้ามแม่น้ำยาลูแห่งใหม่จะเปิดใช้งานในอีกไม่ช้า และน่าจะมีความหมายมากกว่าการที่จีนกับเกาหลีเหนือจะกลับมาค้าขายกันในระดับปกติ หลังชะงักงันไปนานจากภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำยาลูแห่งใหม่ “มีอะไรซ่อนเร้นมากกว่านั้น” โครงการดังกล่าวแน่นอนว่า มีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ในการก่อสร้าง โดยรัฐบาลปักกิ่งให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าในระดับทวิภาคีร่วมกับเกาหลีเหนือ
มีรายงานว่า จีนเป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอรอบแรกเพื่อให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำยาลูแห่งใหม่เมื่อปี 2549 โดยให้เหตุผลทางการค้าและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเปียงยางปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าสะพานแห่งดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็นมากนักสำหรับเกาหลีเหนือ และมีความกังวลว่าจีนอาจใช้สะพานแห่งนี้ด้วยเหตุผลแอบแฝงทางทหาร ที่รวมถึงการใช้เป็นเส้นทางยกทัพเข้ามาในเกาหลีเหนือ “หากเกิดกรณีไม่คาดฝัน”
ต่อมาในปี 2553 จีนยื่นข้อเสนอเดิมกับเกาหลีเหนือ และยืนยันว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด คราวนี้นายคิม จอง-อิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือในเวลานั้น ตอบรับข้อเสนอของจีน ด้วยเหตุผลว่าต้องการใช้สะพานแห่งนี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อประกาศความสำเร็จด้านนโยบาย และเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง
การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำยาลูแห่งใหม่แล้วเสร็จในที่สุด เมื่อปี 2557 อย่างไรก็ตาม กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลปักกิ่งไม่ได้รักษาคำมั่นสัญญาในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับเกาหลีเหนือ ซึ่งจีนให้เหตุผลเกี่ยวกับ “งบประมาณที่บานปลาย”

ต่อมาในปี 2558 เกาหลีเหนือกำหนดให้โครงการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่แห่งนี้ เป็นหนึ่งใน “100 เป้าหมายการก่อสร้าง” และพยายามออกนโยบายจูงใจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนของจีน เพื่อให้โครงการมีความคืบหน้า แต่กลับประสบกับความล้มเหลว เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือและการตอบสนองจากภาคเอกชนของจีน ทำให้สะพานแห่งนี้แทนที่จะเป็น “สะพานมิตรภาพ” ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความไม่ไว้วางใจกัน” ระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะจนแล้วจนรอดยังคงไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์
ด้วยเหตุนี้ สะพานข้ามแม่น้ำยาลูแห่งทีใหม่ จึงไม่อาจเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียพัฒนาขึ้นมากในระยะหลัง แต่เรื่องนี้กลับซ่อนเร้นด้วยการแข่งขัน และความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะฝ่ายจีน ที่ต้องการรักษาอิทธิพลเหนือเกาหลีเหนือ และเพื่อความเป็นหนึ่งในภูมิภาคแห่งนี้
ดังที่กล่าวไปว่า จีนเป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนทั้งหมดในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำยาลูแห่งใหม่ และการก่อสร้างอาคารศุลกากรบนฝั่งเกาหลีเหนือ ในทางกลับกัน เป้าหมายและความมุ่งหวังของเกาหลีเหนือคือการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผ่านการค้าขายกับจีน โดยตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นเกี่ยวกับขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ และโครงการพัฒนาขีปนาวุธ ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
จากมุมมองของบุคคลภายนอก จีนและเกาหลีเหนือ “คือพันธมิตรแน่นแฟ้น” และเป็นที่ทราบกันดีสำหรับทุกฝ่าย ว่ารัฐบาลปักกิ่งคือประเทศผู้อุปถัมภ์ และเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นมิตรนั้นเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงและไม่ไว้วางใจ เมื่อจีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้เมื่อปี 2535 ซึ่งเกาหลีเหนือถือเป็น “การทรยศอย่างรุนแรง”
ตอนนั้นว่ากันว่า นายคิม จอง-อิล ไม่พอใจอย่างหนัก ถึงขั้นให้รัฐบาลเปียงยางเตรียมพิจารณาสถาปนาความสัมพันธ์กับไต้หวันเพื่อตอบโต้
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่เกาหลีเหนือเผชิญกับวิกฤติอดอยากครั้งรุนแรงเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเรียกกันว่า “การเดินทางที่ยากลำบาก” รัฐบาลเปียงยางคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรมจากรัฐบาลปักกิ่ง แต่กลับมีการเพิ่มการประจำการของทหารกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ตามแนวชายแดนที่ติดกัน ซึ่งเกาหลีเหนือถือว่าไม่เพียงแสดงถึงการเพิกเฉยทางเศรษฐกิจ แต่ยังซ้ำเติมความไม่ไว้วางใจทางทหารและการเมืองระหว่างสองประเทศ

เมื่อเกาหลีเหนือเข้าสู่ยุคของนายคิม จอง-อึน ท่าทีและทัศนคติเชิงต่อต้านจีนยังคงมีอยู่ และมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อเอกสารบางส่วนที่เกี่ยวกับจีนกลับเป็นการใช้ถ้อยคำเรียกอีกฝ่ายว่า “พวกจีน” ยิ่งตอกย้ำความไม่ไว้วางใจเชิงโครงสร้างที่ฝังลึก มากกว่าเป็นเพียงความรู้สึกชั่วคราว
ขณะที่จีนไม่ถือว่าเกาหลีเหนือคือ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” แต่ถือเป็น “สิ่งที่ต้องจัดการและควบคุมให้ได้ เนื่องจากก่อให้เกิดความเสี่ยง” การที่เกาหลีเหนือเดินหน้าขยายขอบเขตความสัมพันธ์ทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจกับรัสเซีย สะท้อนนโยบายต่างประเทศที่หันเหออกจากจีนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความเป็นไปได้ของการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐ แม้ยังคงห่างไกล แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับจีน ซึ่งมองว่า “ความไม่แน่นอน” กำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่ ระหว่างความสัมพันธ์กับรัฐบาลเปียงยาง

หากเกาหลีเหนือหลุดออกจากวงโคจรของจีน ไม่ว่าจะผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับรัสเซีย หรือการเจรจากับสหรัฐ ชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนจะกลายเป็น “จุดอ่อนในทางภูมิรัฐศาสตร์” ด้านโครงสร้างทางความมั่นคงของจีน ท่ามกลางความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้
สะพานข้ามแม่น้ำยาลูแห่งใหม่ จึง “เป็นมากกว่า” แค่โครงสร้างพื้นฐาน โดยถือเป็น “ทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์” ที่จีนอาจใช้เพื่อเหตุผลแอบแฝงอื่นอีกหลายประการ รวมถึงเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับเกาหลีเหนือ ขณะที่รัฐบาลเปียงยางมองว่า รัฐบาลปักกิ่งเป็นฝ่ายเจตนาชะลอการเปิดใช้สะพานตั้งแต่แรก
แม้ท่าทีทั้งสองฝ่ายผ่อนคลายลงบ้าง แต่เมื่อใดก็ตามที่สะพานแห่งนี้เปิดใช้งานจริง จะส่งผลกระทบในทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างแน่นอน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES