รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถานบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวโน้มจำนวนเด็กไทยเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นสังคมผุ้สูงอายุ ทั้งนี้ อ้างอิงจากข้อมูล สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ข้อมูลประชากรไทย ปี 2567 มีรวมทั้งสิ้น 65,951,210 คน อัตราการเกิดของประชากร ปี 2566 ที่มีแนวโน้มการเกิดที่สูงขึ้น ราว 519,000 กว่าคน ต้นปี 2567 ที่สถาบันฯ ได้พูดคุยกันว่า ปีมังกร เป็นอีกปีที่คนไทยตัดสินใจมีลูกเพิ่มขึ้น จำนวนการเกิดน่าจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อติดตามไปกลับพบว่า อัตราการเกิดในปี 2567 มีตัวเลขอยู่ที่ 462,240 คน ถือว่าต่ำกว่า 5 แสนคน
“ อัตราการเกิดของไทยตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา มีอัตราเกิดสูงกว่า 5 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนถึงยุคที่ประชากรเกิดมากกว่าล้านคนในปี 2506 – 2526 และหลังจากนั้นอัตราเกิดก็ทยอยลดลง จนถึงล่าสุดปี 2567 เป็นปีแรกที่ไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ซึ่งในทางเดียวกันส่งผลให้อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตายต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ไทยมีนโยบายส่งเสริมให้มีลูก แต่ผลที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมากลับสวนทาง”
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ( UN) ได้จัดกลุ่มประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการเกิดกำลังลดลง โดยไทยเป็นประเทศเดียวในเขตภูมิภาคที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate :TFR) ล่าสุดในปี 2567 อยู่เพียง 1.0 ซึ่งถ้าเทียบกับหลายประเทศจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต่ำมาก ๆ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ แต่เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มี TFR อยู่ที่ 1.2 จะเห็นได้ว่าไทยต่ำกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ หากนำข้อมูลการเกิดและ TFR มาคำนวณ มีการคาดการณ์ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ไทยจะมีการเกิดที่ลดลง เหลือเพียง 40 ล้านคน เท่ากับว่าประชากรจะหายไป 25 ล้านคน หรือมองให้เห็นภาพคือ เฉลี่ยทุก 2 ปี ประชากรจะลดลง 1 ล้านคน
คนอ่านข่าวนี้ บางคนก็คิดว่า การสำรวจประชากรจากการแจ้งเกิด ครอบคลุมพอหรือไม่ ? บางคนเขายกกรณี “หนุ่ย ติ๊งต่าง” ที่ก่อคดีอาชญากรรม ว่า เป็นคนไทย เกิดในเมืองไทย แต่ไม่เคยมีประวัติทะเบียนราษฎร์หรืออะไรใดๆ ซึ่งมันก็มีหลายสาเหตุเช่น พ่อแม่ไม่มีความรู้เรื่องต้องทำทะเบียนราษฎร์เพื่อให้ลูกได้รับสิทธิ์ จนกระทั่งถูกทอดทิ้งก็ได้ ..ไม่แน่ถ้าชำระสำมะโนประชากรหน่อย อาจมีคนตกสำรวจอยู่พอสมควร
ขณะเดียวกัน คู่รักหลายคู่ที่เห็นข่าวก็ต้องสะเทือนใจ เชื่อได้ว่า หลายคู่พยายามจะมีบุตรโดยวิธีต่างๆ แต่ละครั้งเสียเงินกันเป็นแสนๆ ปรากฏว่า ตัวอ่อนไม่ติดมดลูก แต่ขณะเดียวกัน ประเทศนี้กลับมีจำนวน“แม่วัยใส”เยอะมาก ข่าวว่ามีพื้นที่โซเชี่ยลมีเดียอวดกันเลยว่า ท้องตอนอายุเท่าไร ..เด็กหนุ่มเด็กสาวจำนวนมากก็ใช้ชีวิตแบบเพริดไปตามฮอร์โมน คิดว่ารักแรกคือรักแท้ และบางคนอาจจะ romanticize ( ทำให้ดูเร้าอารมณ์เกินจริง ) ว่า ลูกคือโซทองคล้องใจ แต่สุดท้ายลองเลี้ยงเด็กดูเองก็ไม่รอด หรือรอดแบบถูลู่ถูกังกันไป และจบที่ได้ประชากรไม่มีคุณภาพเพิ่มมาอีก ..จะให้ทำสื่อป้องกันปัญหาท้องในวัยเรียน ก็ไม่รู้กลายเป็นการไปขู่คู่แต่งงานที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่การเงินและครอบครัวยังไม่แข็งแรงให้ไม่กล้ามีลูกหรือเปล่า หรือที่เรียกว่า ผลสะท้อนมุมกลับ
ภาครัฐมีความพยายามจะส่งเสริมให้คนมีบุตร มีเวบไซด์ให้ข้อมูลความรู้ด้วย https://เพื่อนครอบครัว.com/startup/list ลองเข้าไปอ่านกันได้ จัดทำโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) ซึ่งเอาจริงการเข้าถึงก็น้อย เพราะพอเห็นเป็นหน่วยงานรัฐคนก็คิดว่าเชย ก็อยากเสนอให้การสื่อสารภาครัฐพัฒนาการขึ้นจากการต้องเป็นระบบระเบียบอะไร หันมาสร้างเน็ตไอดอลบนติ๊กต่อกดูจะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า คนไทยเดี๋ยวนี้เป็น “ผู้ผลิตคอนเทนท์ดิจิทัล”กันเยอะ ที่ผลิตมากก็ลงติ๊กต่อก ยูทูป เฟซบุ๊ก
ทำไมคนเดี๋ยวนี้ถึงไม่อยากมีลูก ? คำว่า “มีลูกคนจนไปเจ็ดปี”ก็ส่วนหนึ่ง มันเป็นคำที่ถูกใช้มานานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มีลูกคนเดียวไม่น่าจะจนไปเจ็ดปี เผลอๆ มากกว่านั้น “ความจน”ส่วนหนึ่งมันมาจาก “การต้องหาสภาพสิ่งแวดล้อมดีๆให้ลูก” ซึ่งคำว่า สภาพแวดล้อมดีๆ นี่มันต้องจัดการกันตั้งแต่ในครอบครัว
เคยรับฟังปัญหาจากทางบ้านมาหลายคู่ พบว่า เมื่อก่อนเราคิดกันว่า การเป็นครอบครัวใหญ่ ตามวิถีไทยเป็นเรื่องดี แต่ปัจจุบัน ในสังคมแบบเมือง การเป็นครอบครัวใหญ่กลายเป็น “มากคน มากความ” บางครั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องย้ายไปอยู่บ้านคู่สมรสอีกฝ่าย อาจมีพ่อแม่ผัว หรือพ่อตาแม่ยาย หรือพี่น้องของอีกฝั่งอยู่ด้วย ที่ต้องย้ายไปเพราะปัญหา ฯลฯ ซึ่งปัญหาการเงินน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด พออยู่กันไปก็เกิดความอึดอัดในการไม่เป็นส่วนตัว พอมีเรื่องขึ้นมาก็ต้องหาคนกลางที่เข้ากับทุกฝ่ายได้มาไกล่เกลี่ย หลายครั้งที่เรื่องจบคนไม่จบ เพราะความเกรงใจ
มีคนรู้จักอยู่สองสามราย บอกว่า เจอแม่ผัวประเภท“ปีกมาร” ( คิดว่าหลายคนคงทันหนัง-ละครเรื่องนี้ ) ที่เฝ้าคอยจับผิดลูกสะใภ้ตัวเองจนคนโดนจับผิดจะประสาท เหตุผลก็อารมณ์ประมาณว่า แก่แล้วกลัวลูกไม่รัก ก็เลยต้องแย่งความสนใจมันซะเลย ฝ่ายหญิงก็ไม่อยากมีลูก เพราะเห็นแม่ผัวแล้ว กลัวแก่ตัวไปเป็นคนแบบที่ตัวเองเกลียด …แม่ที่มีลูกชายบางบ้านก็หวงลูกชายไม่อยากให้มีเมีย ให้อยู่กับแม่เพราะกลัวไม่มีคนเลี้ยง จะให้ไปอยู่พวกบ้านพักคนชราอะไรที่เดี๋ยวนี้เปิดมาเยอะ ก็การเงินสู้ไม่ไหว แต่ละที่แพงหูฉี่ เผลอๆ ไปทะเลาะกับอีปู่อีย่ามหาภัยในนั้นอีก อยู่บ้านสบายใจกว่า
หากไม่ได้อยู่ลำพัง สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดสูงมาก คือ“การต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงในบ้านด้วย” จากเหตุแห่งความกตัญญูหรือตกกระไดพลอยโจนก็ตาม ยิ่งถ้ามีลูก โอกาสที่ลูกจะมีปัญหามีสูง เพราะพ่อแม่ทั้งคู่ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องดูแลคนป่วยจนอาจละเลย บางครั้งแม้แต่เวลาไปเที่ยวไกลๆ กันอย่างอิสระก็ไม่มี เพราะ“ห่วงคนที่ติดเตียงอยู่บ้าน” เด็กก็เกิดความเครียด เกิดข้อเปรียบเทียบกับครอบครัวเพื่อนๆ จนทำให้มีปัญหาทางใจ ..เรื่องการเลี้ยงดูลูกหลานในบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงนี่ ฝ่ายงานด้านสังคมของรัฐบาลควรให้ความสนใจด้วย มันอาจเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กว่าจะโตไปอย่างเข้าใจทุกอย่างและแสวงหาความสุขได้ หรือโตไปอย่างมีปัญหาทางใจ
ถ้าครอบครัวใหญ่บางครอบครัวไม่มีปัญหาระหว่างกันในบ้านก็ถือว่าดีไป สิ่งที่สำคัญคือคนอยู่ร่วมกันต้องไม่ละเมิดกัน ไม่ใช้คำว่า“คนกันเอง”พร่ำเพรื่อ อย่ามีเรื่องยืมทรัพย์สินกันก็อยู่ด้วยกันได้
หลังจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัว ก็ต้องมาสร้างสิ่งแวดล้อมรอบบ้านที่อยู่แล้วไม่ประสาทกิน บางครั้งเราว่าเราเลือกอยู่ที่ดีๆ แล้ว ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นมีแหล่งซ่องสุมเกิดใหม่อยู่ข้างๆ เดี๋ยวนี้มีเรื่องกันเขาไม่ค่อยอยากพึ่งพาตำรวจ เพราะข่าวหนาหูเหลือเกินว่าขี้เกียจ บางคดีบอกให้เจ้าทุกข์ไปหาตัวคนร้ายเองซะงั้น สู้เอาเรื่องไปร้องเรียนพวกจอมพลังในโซเชี่ยล ฯ ให้ออกรายการโหนกระแสดีกว่า ออกไม่ทันข้ามวันตำรวจ“ไม่นิ่งนอนใจ”ขึ้นมาทันที ..หรือแบบที่เรียกว่า “ต้องประจานก่อนถึงจะทำงาน” บางทีชนชั้นกลางลงล่างก็พึ่งพาอะไรตำรวจไม่ค่อยได้
เข้าสังคมใหญ่ขึ้น จะส่งลูกเรียน ก็ต้องซื้อสังคมให้ลูก ต้องเท่าเทียมเพื่อนไม่ให้เกิดความอิจฉาน้อยเนื้อต่ำใจกัน แล้วลูกเฮตามพวกตลาดล่างไป เด็กชุมชนเมืองสมัยนี้ต้องมีทักษะอะไรหลายอย่าง กีฬา ดนตรี ทักษะการเข้าสังคม ความรู้ ซึ่งหลายอย่างเป็นค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจาก “มันไม่ใช่ของจำเป็นต่อการดำรงชีวิต” คือจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ไม่ทำให้ตาย แต่มีแล้วทำให้ชีวิตมันดี เข้ากับคนอื่นได้ง่ายหรือเหนือกว่าคนอื่น เราจำนนกับ“ความแพง”เพราะถูกครอบด้วยมายาคติของการบริโภค ให้ต้องซื้อหาสินค้าเกินจำเป็น ราคาเกินกว่าความสมเหตุสมผล เพราะรู้สึกสร้างความสุข เติมเต็มทางใจ ..สังคม การสื่อสาร การโฆษณามันทำให้เกิดความคิด “ของมันต้องมี” , “เดี๋ยวคุยกับใครไม่รู้เรื่อง” , “จ่ายค่ารสนิยม”
การจ่ายค่ารสนิยมบางครั้งก็ไม่รู้ลึกถึงสิ่งนั้น แค่มี“เปลือก”ไว้โชว์ มีเรื่องเล่าจากคนรู้จักว่า มีบุคคลอ้างว่านิยมไวน์แพงอยู่ราย ถูกหลอกเอาพวก table wine ( ไวน์ธรรมดาๆ ) บางยี่ห้อที่ออกหวานหน่อยไปใส่ขวดไวน์แพง เขาก็แยกไม่ออกว่า มันไม่ใช่ไวน์แพง …น้ำเมานี่มักจะถูกทำให้เป็นสินค้าสะท้อนรสนิยม อย่างวิสกี้ ไวน์ พวกนี้จะต้องมีพิธีรีตองในการกิน แล้วถ้าให้ดัดจริตหน่อยก็ต้องบอกว่า จิบแต่ละคำ มี layer ของกลิ่นอะไร ถ่านไม้ ไม้โอ๊ค ผลไม้ ฯลฯ
อยากเมาท์เรื่องค่ารสนิยมเยอะกว่านี้แต่เดี๋ยวจะยาวไป แค่จะบอกว่า การใช้ชีวิตคนเรามันแพงขึ้นเพราะเราต้องจ่ายค่าสร้างมูลค่าตัวเองในสังคม หลายครั้งกลายเป็นหนี้สินให้เกิดความเครียดเอาอีก
มันมีหลายเหตุผลให้คนไม่อยากมีลูก เรื่องภาระทางการเงินนี่น่าจะอันดับหนึ่ง เรื่องการหาสิ่งแวดล้อมดีๆ มาเป็นที่สอง อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันเล่นๆ ในหมู่คน GEN Y คือ “กลัวลูกมาทวงแค้น” อันนี้หมายถึงว่า เกิดลูกโตแล้วไม่ได้ดังใจ สอนไม่จำ ไปเชื่อเพื่อนแบบ“เราไม่ได้อยากเกิด พ่อแม่ต่างหากให้เกิด” มันรู้สึกแบบว่า “เหมือนอะไรที่เราทำแย่ๆ กับพ่อแม่จะกลับมาสนองเราแน่ๆ” ซึ่งถ้าพูดกันอย่างเป็นทางการคือ “ไม่อยากรับผิดชอบชีวิตใคร เอาตัวเองอยู่สบายก็พอ”
ถามว่า แก่ตัวไปอยู่อย่างไร เขาบอกว่า “ก็ต้องวางแผนเก็บเงินเตรียมเข้าไปอยู่บ้านพักคนชรา และไม่ห่วงเรื่องแรงงานอะไรเท่าไร ต่อไปก็มีพวกปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนแรงงานมนุษย์เยอะแล้ว” คือจริงๆ อย่าคิดจะพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์อะไรมาก เพราะมันมีเรื่องของ knowledge gap คือเทคโนโลยีมันไปเร็วจนคนจะพัฒนาทักษะการใช้ไม่ทันมัน
เมื่อคิดๆ ดู เหตุผลที่คนไม่อยากมีลูกมันก็มีเยอะแยะ เป็นโจทย์ที่ท้าทายดีว่า รัฐบาลจะส่งเสริมอย่างไร ซึ่งเชื่อว่า ประชาชนจำนวนมาก ต้องการการดูแลไปถึงส่งเรียนฟรี แต่การมีลูกหรือไม่มันก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ละครอบครัวจะช่วยส่งเสริม สนับสนุนเครือญาติ – ลูกหลานตัวเองอย่างไรก็เป็นปัจจัยหนึ่ง
เราจะจูงใจอย่างไร ที่จะให้ “คนมันไม่อยากมีเพราะไม่อยากมีภาระ” เห็นความสำคัญของการมีลูก ? เรื่องแบบนี้ใช้วิธีบังคับไม่ได้เสียด้วย หรือจะบอกว่า ต้องสร้างคนไทยเก่งๆ ไม่ให้ต่างประเทศแฝงมายึดครองทรัพยากรไทยเสียหมด.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”