ข่าวเด็กน้อยวัย 11 ขวบถือมีดไล่แทงพี่และถือมีดชี้หน้าต่อว่าแม่ เมื่อไม่นานมานี้ เป็นตัวอย่างของความรุนแรงในเด็กและเยาวชนที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้ที่ได้ยินข่าวดังกล่าวอาจจะกล่าวโทษสื่อ social ที่มีแต่ความรุนแรง หรือกล่าวโทษที่ครอบครัวไม่อบรมสั่งสอน แต่แท้จริงยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ดังนี้

1.ปัจจัยจากตัวเด็กเอง เช่น เด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์แบบเด็กเลี้ยงยาก เด็กกลุ่มนี้มักมีประวัติกินยาก นอนยาก ปรับตัวยาก ถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมได้เร็ว และหงุดหงิดง่าย เด็กบางคนมีความบกพร่องทางสมอง มีโรคประจำตัวที่ทำให้มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก เด็กบางคนมีปัญหาในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกความต้องการออกมาได้ตรงไปตรงมา
2.การเข้าสู่วัยรุ่น ความสามารถในการยับยั้งพฤติกรรม (Inhibitory control) หรือความสามารถในการระงับการตอบสนองโดยอัตโนมัติ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามอายุ แต่ในวัยรุ่นและรวมถึงเด็กที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น บางครั้งอาจควบคุมอารมณ์ได้น้อยกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า เนื่องมาจากวัยรุ่นมีความไวต่อสิ่งเร้าทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่มีความเข้มข้นทางอารมณ์สูงๆ สมองของวัยรุ่นมีระบบตอบสนองทางอารมณ์ที่มีความไวสูงมาก แต่ระบบการควบคุมและกลั่นกรองการแสดงออกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการควบคุมอารมณ์ได้มากในเด็กวัยรุ่นและเด็กที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น
3.เด็กมีปัญหาทางอารมณ์และความเครียด รู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม รู้สึกคับข้องใจ ไม่ได้รับความเข้าใจ บางครั้งเด็กที่มีอารมณ์วิตกกังวล มีความกลัวอย่างมากก็สามารถแสดงออกมาเป็นความก้าวร้าวได้
4.รูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการการควบคุมอารมณ์ ถ้าพ่อแม่ใช้การเลี้ยงดูที่รุนแรง เช่นเมื่อลูกทำผิด มีการลงโทษที่รุนแรง มีการตี การดุด่าว่ากล่าว การทำให้ลูกรู้สึกอับอาย การลงโทษโดยไม่อธิบายเหตุผล หรือการลงโทษนั้นเป็นไปตามอารมณ์ของพ่อแม่ พ่อแม่มีความขัดแย้งกันเองในการลงโทษลูกหรือไม่เป็นไปในทางเดียวกันในวิธีในการฝึกระเบียบวินัย วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่เหล่านี้ ส่งผลให้ลูกขาดความมั่นคงทางอารมณ์ และพัฒนาการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ช้า
5.ความก้าวร้าวที่เกิดจากการเลียนแบบจากผู้ใหญ่รอบๆตัว กลุ่มเพื่อน โทรทัศน์ สื่อโซเชียลต่างๆที่แสดงให้เด็กเห็นว่าการทำพฤติกรรมก้าวร้าวต่อคนอื่นแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นหรือหนำซ้ำเด็กเห็นตัวอย่างของการแสดงความก้าวร้าวแล้วยังได้ประโยชน์บางอย่างเช่น การก้าวร้าวโวยวายแล้วได้สิทธิพิเศษ การก้าวร้าวแล้วมีคนชื่นชมว่าเป็นฮีโร่

การเลี้ยงดูที่ช่วยทำให้เด็กโตมาไม่ก้าวร้าว
เด็กๆทุกคนต้องเคยร้องไห้โวยวาย ขว้างของ ทิ้งตัว หรือแม้กระทั่งทุบตีคนรอบข้างเวลาไม่ได้ดั่งใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องช่วยกล่อมเกลาลูกเมื่อลูกโกรธ ช่วยสอนลูกให้มีวิธีในการจัดกับการอารมณ์โกรธ อารมณ์ผิดหวังของตนเอง และฝึกควบคุมอารมณ์โกรธ ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ เพราะการแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กโตหรือวัยรุ่นย่อมยากกว่าการแก้ไขตั้งแต่ลูกอายุยังน้อย แนวทางการช่วยลูกให้เติบโตมาไม่ก้าวร้าวมีดังนี้
1.ถ้าเห็นลูกกำลังมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับใครก็ตาม พ่อแม่ต้องเข้าไปหยุดพฤติกรรมนั้นทันที หยุดพฤติกรรมด้วยความสงบ มั่นคง น้ำเสียงที่หนักแน่น
2.ไม่จัดการพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยอารมณ์โกรธ ไม่ลงโทษพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกด้วยความรุนแรง เช่นการตี หรือดุด่าว่ากล่าวเด็ก
3.พยายามเข้าใจปัญหาหรือตัวกระตุ้นที่ทำให้ลูกโกรธจนแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว รับฟังอย่างใจเย็นและมีสติ ช่วยลูกให้ได้ระบายความรู้สึก แสดงความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูก และหาทางช่วยกันแก้ไขปัญหา
4.ให้ลูกเข้าใจว่าลูกมีสิทธิ์ที่จะโกรธ แต่พ่อแม่ไม่ยอมรับวิธีการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
5.เตรียมลูกล่วงหน้า ถ้าเจอเหตุการณ์ที่คล้ายกันแบบนี้อีก ลูกจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่นถ้าลูกถูกเพื่อนล้อ แทนที่ลูกจะโมโหจนต่อยเพื่อน ลูกจะจัดการอย่างไร
6.ชื่นชมเมื่อเด็กพยายามควบคุมตนเองได้ดี แม้จะรู้สึกโกรธ หรือแสดงความมีน้ำใจ
7.พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์โกรธ ระมัดระวังคำพูด สีหน้า ท่าทาง วิธีการลงโทษกับลูกเวลาที่พ่อแม่ไม่พอใจเมื่อลูกดื้อ เถียง หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกใจพ่อแม่ เพราะนั่นจะเป็นตัวอย่างสะท้อนการควบคุมอารมณ์โกรธให้ลูกเห็นได้ดีที่สุด
…………………………………………
พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันราชานุกูล