ทั้งนี้ เกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงลบ “การแสดงออกบางอย่างของบางคนที่ดูมีปัญหา”กับการตั้งข้อสังเกต กับ “คำถาม” ที่ว่า…มีสาเหตุจากปัจจัยใด? หรือ “อะไรคือตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม?” นั้น…ก็ถือว่า “น่าคิด” และก็ “น่าหาคำคอบ”…
“พฤติกรรมลบ” บางคน “แสดงออกถี่”
กรณีนี้ “โยงกลไกสมองด้วยหรือไม่??”
กับสิ่งที่อาจจะเป็นคำตอบนั้น “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจ… ซึ่งกรณีแบบนี้อาจพ้องกับข้อมูลที่ รศ.ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์ นักวิชาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายไว้ผ่านทาง รายการจิตวิทยาเพื่อคุณ วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz เกี่ยวกับ “กลไกป้องกันตนเอง”หรือ “Defense Mechanisms” โดยสังเขปนั้นมีว่า… กลไกที่ว่านี้ เป็นกลไกปกติของมนุษย์ เพราะในชีวิตประจำวันย่อมหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความขัดแย้งไม่ค่อยได้ ซึ่ง เพื่อช่วยจัดการกับอารมณ์ทางลบและความเครียดที่เกิดขึ้น หลายคนมีการใช้กลไก “Defense Mechanisms” ที่ว่านี้…
จัดการปัญหาด้วย “กลไกป้องกันตนเอง”

รศ.ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์
อย่างไรก็ตาม ทาง รศ.ดร.เพ็ญพิไล ระบุไว้ว่า… ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาวิเคราะห์ ได้กล่าวถึง “กลไกป้องกันตนเอง” ไว้ว่า… เป็นวิธีช่วยบรรเทาปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้นแต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่สาเหตุ เปรียบเสมือนการใช้ยาแก้ปวดที่อาจทำให้หายปวดชั่วคราว แต่ยาที่ใช้ไม่ได้ไปรักษาสาเหตุของอาการปวดดังกล่าวซึ่งแม้ว่าการใช้กลไกป้องกันตนเองจะมีประโยชน์ และก็เป็นพฤติกรรมปกติที่คนเราใช้กันทั่ว ๆ ไป แต่ก็มี “คำเตือนคือ…ไม่ควรใช้มากเกินไป!!”เพราะถ้ามากไปจะทำให้คน ๆ นั้นเป็นคนที่มีพฤติกรรมต้องป้องกันตัวเองตลอดเวลา และเมื่อ “รุนแรงขึ้น” ก็…
“อาจส่งผลกระทบทางลบ” ถึงขั้น…
ทำให้ “หลุดจากโลกความเป็นจริง!!”
ขยายความ “กลไกป้องกันตนเอง” นักวิชาการคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ท่านเดิมระบุไว้ว่า… กลไกนี้ มีหลายรูปแบบ แต่ละแบบช่วยบรรเทาปัญหาได้ต่างกันไป ดังนี้… แบบที่ 1 อ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) เป็นวิธีที่ใช้กันบ่อยที่สุด เพื่อพยายามให้เหตุผลหรืออธิบายสาเหตุความล้มเหลวบกพร่องของตน ซึ่งแบบนี้คือวิธีที่คนทั่วไปเรียกว่า “แก้ตัว” นั่นเอง ซึ่งช่วยให้รอดจากการถูกตำหนิได้ แต่ถ้าใช้บ่อยมาก หรือมากเกินไป ก็จะทำให้ผู้อื่นมองเป็นนักแก้ตัว เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
แบบที่ 2 ฉายสะท้อน (Projection) แบบนี้เป็นการ “นำความยุ่งยากหรือความล้มเหลวของตนยกไปให้ผู้อื่น” เปรียบเสมือนการสะท้อนลักษณะไม่พึงประสงค์ของตนไปให้ผู้อื่น เช่น นักเรียนที่โกงสอบและถูกจับได้ บอกว่าคนอื่นก็โกงเหมือนกัน หรือไม่ก็กล่าวโทษครูว่าไม่มีมาตรการป้องกันทุจริตที่ได้ผล ซึ่งผู้ใช้กลไกแบบนี้จะเบี่ยงเบนความผิดหรือข้อบกพร่องของตนโดยชี้ให้เห็นว่าคนอื่นก็ทำผิดเหมือนกัน เพื่อช่วยให้ตนเองรู้สึกผิดน้อยลง …ทางนักจิตวิทยาอธิบายแจกแจงไว้ ซึ่ง…
“กลไกป้องกันตนเอง” ยังมีแบบอื่นอีก

แบบที่ 3 ย้ายที่ (Displacement) นี่เป็นการ “ถ่ายโอนความรู้สึกโกรธที่มี” ไปยังบุคคลหรือสิ่งของ ที่มีอันตรายน้อยกว่า เช่น เด็กถูกแม่ตีเพราะรังแกน้อง อาจรู้สึกโกรธแม่ แต่ตอบโต้ไม่ได้ จึงระบายด้วยการขว้างปาทำลายสิ่งของแทน, แบบที่ 4 ปฏิเสธความจริง (Denial of reality) มักใช้เมื่อความจริงเป็นสิ่งที่เจ็บปวด เสมือนหมอนกันความสั่นสะเทือนจากความรู้สึกไม่พึงปรารถนา เพื่อให้มีเวลาปรับตัวยอมรับความจริง ซึ่งถ้าใช้กลไกแบบนี้อย่างพร่ำเพรื่อจนมากเกินพอดี ก็อาจส่งผลลบ…
อาจกลายเป็นคนที่ชอบ“หลอกตัวเอง”
แบบที่ 5 ชดเชย (Compensation) กลไกป้องกันตัวแบบนี้เป็นวิธี “ทดแทนส่วนที่ตนเองยังขาดตกบกพร่อง” ซึ่งตอบสนองความต้องการชั่วคราวได้ แต่ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง, แบบที่ 6 ถดถอยกลับสู่วัยที่เล็กกว่า (Regression) เป็นกลไกแบบที่มักถูกใช้ “ลดความรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิต” ของตนเอง, แบบที่ 7 แสดงปฏิกิริยาตรงกันข้าม (Reaction Formation) แบบนี้มักใช้ “ปิดบังไม่ให้ความปรารถนาซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับถูกแสดงออกมา” โดยแสดงปฏิกิริยาตรงกันข้าม, แบบที่ 8 หลีกหนีและถอนตัว (Escape and withdrawal) เพื่อที่จะ “หนีจากสถานการณ์ไม่พึงปรารถนา” ได้ชั่วขณะ
ถัดมา… แบบที่ 9 ทดเทิด (Sublimation) นี่เป็นกลไก “เบี่ยงเบนแรงจูงใจที่ไม่เป็นที่ยอมรับ” ไปสู่การมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เช่น ผู้มีความก้าวร้าวอาจหาทางออกโดยไปเป็นนักมวยซึ่งแสดงความก้าวร้าวได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือผู้ที่มีแรงจูงใจทางเพศสูงอาจแสดงออกผ่านการแต่งบทประพันธ์ เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ ซึ่งแบบนี้จะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหนนั้นจะขึ้นกับการเลือกวิธีแสดงออกที่เหมาะสม และแบบที่ 10 ไถ่โทษ (Undoing) นี่เป็นกลไกแบบที่มักใช้เมื่อรู้สึกว่าทำผิดต่อบางคนโดยจะหาทาง “ทำดีเพื่อไถ่โทษ” เพื่อลดความรู้สึกผิด …เหล่านี้คือข้อมูลที่ รศ.ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์ อธิบายไว้
“กลไกป้องกันตนเอง” นั้น “น่าสนใจ”
นี่ “อาจฉายภาพดราม่าดัง” ระยะนี้…
อาจ “ชี้ปัจจัยที่บางคนดูหลุดโลก?”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์