จริงอยู่ การสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่พฤติกรรมใด ๆ ของศิลปินดาราในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในระหว่างการแสดง ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อแฟน ๆ โดยเฉพาะที่เป็นเด็กและเยาวชนที่ได้เห็นพฤติกรรมนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งที่ดีและไม่ดี
การสูบบุหรี่ เป็นการเสพติดนิโคติน ที่ทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาปีละ 8 หมื่นกว่าคนในคนที่สูบเอง และในคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองอีก 2 หมื่นกว่าคน
สมัยก่อนที่ทางการแพทย์จะรู้ว่า การสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอดและโรคเรื้อรังต่าง ๆ บริษัทบุหรี่จ้างดารานักแสดงฮอลลีวูดให้สูบบุหรี่ ระหว่างออกงานสังคม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ และในงานที่แสดง
เอกสารภายในของบริษัทบุหรี่ฟิลิป มอร์ริส ปี 2533 เขียนไว้ว่า “เท่าที่เป็นอยู่ แม้กีฬาจะเป็นช่องทางที่ดีที่สุด ในการดึงดูด โน้มน้าวใจผู้สูบบุหรี่กลุ่มเป้าหมายหลักของเรา
แต่นั่นไม่ใช่ช่องทางเดียว หนังและวีดิโอจากต่างประเทศก็เป็นที่นิยมอย่างสูงในหมู่หนุ่มสาวผู้สูบบุหรี่ในเอเชีย” ช่วงนั้นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ กำลังบุกตลาดเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย

ประเด็นการรณรงค์วันไม่สูบบุหรี่โลกปี 2543 “บุหรี่คร่าชีวิต อย่าหลงผิดตกเป็นเหยื่อ” องค์การอนามัยโลกระบุว่า
“ผู้ที่จะทำให้เยาวชนหลงผิดที่สำคัญคือ วงการบันเทิง ที่ศิลปินและดาราสูบบุหรี่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี”
โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ทั้งมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด เรียกกันว่าเป็นกลุ่ม “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs” เป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อกันโดยเชื้อโรค เช่นไวรัส แบททีเรีย วัณโรคฯลฯ
แต่การสูบบุหรี่ ติดต่อกันโดย “สังคมและสิ่งแวดล้อม” ปัจจัยที่สำคัญคือการเลียนแบบพฤติกรรมของคนในสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะศิลปินดารานักแสดง
ตั้งแต่มีการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ผมจะเปิดดูหน้าบันเทิงในหนังสือพิมพ์ทุกวัน ดีใจทุกวันที่ยังไม่พบภาพศิลปินดาราสูบบุหรี่ไฟฟ้าปรากฏให้เห็น
ต้องขอบคุณทุกท่าน ที่ยังสูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า แต่ไม่สูบในที่สาธารณะ ในงานแสดงให้แฟน ๆ เห็น
แต่ในฐานะหมอ อดไม่ได้ที่จะขอให้ศิลปินดาราทุกคน เลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อสุขภาพของตัวเอง จะดีที่สุดครับ
ข้อมูลจาก ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
อ้างอิง :
1) https://www.hfocus.org/content/2024/11/32162
2) https://www.thaihealth.or.th/wp-content/uploads/2023/05/รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย-พ.ศ.2562.pdf
3) https://www.facebook.com/watch/?v=2474009339598285
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์