ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนพินิจ ชวนคิดกันอีก กับเรื่องการ “วิวาท-ก่อความรุนแรงบนถนนจากการขับขี่รถ”ที่นับวันดูจะยิ่ง “เกิดขึ้นในไทยมากอย่างน่าคิด??”แม้ในยุคนี้จะมีทั้ง “กล้องติดหน้ารถยนต์- กล้องวงจรปิดตามถนน” แต่ก็ยังมีกรณี “หัวร้อนก่อเหตุรุนแรงบนถนน” อย่างไม่หยุดหย่อน…
เหตุปัจจัยนั้น…บ้าง “เพราะเครียด”
หลายกรณีก็ชัดเจนว่า…“เพราะเมา”
และบางกรณีก็น่าคิด…“เพราะกร่าง?”
“ต้องควบคุมอารมณ์ให้ดี อย่าให้ความโกรธทะลักจนเคยชิน…หากปล่อยให้ความโกรธทะลักออกมา บาปชั่วก็เอาชีวิตเราไปกินหมด”…นี่เป็นบางช่วงบางตอนจากการเตือนสติเรื่อง “ความโกรธ” ที่ยุคนี้การแสดงออกแย่ ๆ แรง ๆ ร้าย ๆ เพราะความโกรธ ถูกเรียกว่า “หัวร้อน” โดยการเตือนสติเรื่องความโกรธดังที่ว่ามาข้างต้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากที่ทาง พระพยอม กัลยาโณ ท่านได้เคยระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ซึ่งกับการเตือนสติดังกล่าวนี้ก็สามารถปรับใช้ได้กับกรณี “โกรธระหว่างขับรถ-หัวร้อนบนถนน” ที่ในเมืองไทยยุคนี้มีเคสครึกโครมอื้ออึงเกิดขึ้นอยู่ตลอด และก็บ่อยครั้งที่ถึงขั้นเป็นการ…
“หัวร้อนบนถนนจนก่อเรื่องร้าย!!”
ทั้งนี้ พลิกแฟ้มดูกันถึงการ “หัวร้อนบนถนนจนก่อเรื่องร้าย ๆ” โดยดูกันในมุมกฎหมาย ก็มีทัศนะน่าสนใจจาก รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายอาสาชื่อดัง ที่ให้ความรู้ในเรื่องของข้อกฎหมายเกี่ยวกับ “ความผิดบนท้องถนน” เอาไว้ว่า… ถ้าเป็นเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเป็น อุบัติเหตุทั่วไป เช่น การ ขับรถเฉี่ยวชน การ ขับรถปาดหน้ากัน จนเกิดอุบัติเหตุ ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใหญ่ ฝ่ายที่กระทำผิดก็จะ มีความผิดฐานขับรถประมาท หรือหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน หรืออาจจะ มีความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่โดยทั่ว ๆ ไป มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท …นี่เป็นกรณีอุบัติเหตุทั่วไป

ส่วนกรณีที่เป็นแนว“หัวร้อนบนถนน” นั้น ทาง ทนายรณณรงค์ แจกแจงโดยยกตัวอย่างไว้ว่า… ถ้าเป็นกรณีเฉี่ยวชนกันแล้วเกิดมีการ ทำร้ายร่างกายคู่กรณีก็จะมีความผิดมากขึ้น โดย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับไม่เกิน 2,000 บาท นอกจากนั้น ถ้าเป็นการทุบรถคู่กรณี ทำให้ทรัพย์สินหรือรถคู่กรณีเสียหาย และถ้า มีเจตนาข่มขู่คู่กรณี เช่น มีการถืออาวุธ ลงมาด้วย กรณีนี้เมื่อถูกส่งฟ้องศาลแล้วศาลก็มักจะมีคำสั่งให้ คุมขัง ทันที เพราะ เป็นอันตราย เป็นภัยต่อสังคม
“ยิ่งทำร้ายร่างกายทำให้คู่กรณีบาดเจ็บ ก็จะมีโทษจำคุก 2 ปี และถ้าบาดเจ็บสาหัส โทษก็จะเพิ่มขึ้นเป็นจำคุก 10 ปี หรือถ้าเสียชีวิต ก็จะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นโทษที่หนัก จนทำให้สงสัยว่าที่ยังมีกรณีคนหัวร้อนบนถนนให้เห็นดาษดื่น เป็นเพราะคนไม่รู้กฎหมาย? หรือเพราะไม่กลัวกฎหมายกันแน่?” …ทนายคนเดิมทิ้งท้ายไว้
ทั้งนี้ พลิกแฟ้มเปลี่ยนมาดูในมุมจิตวิทยากันบ้าง… เกี่ยวกับ “การใช้ความรุนแรงบนท้องถนน” นั้น ทาง ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) วิเคราะห์และสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… คนที่ขับรถมักมีภาวะตึงเครียดสะสม จากเรื่องที่ต้องพบเจอมาอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งเมื่อต้องมาเจอ ภาวะรถติด และจากปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นอารมณ์ เช่น การกระทำของผู้ใช้รถคนอื่นที่ขับรถไม่สุภาพ ขับปาดหน้า การถูกบีบแตรใส่ การเปิดไฟสูงไล่ กรณีนี้ก็ยิ่ง กระตุ้นให้อารมณ์โกรธพุ่งขึ้นได้ง่าย ทำให้เกิดการโมโห อาจทำให้เกิดอารมณ์ร้าย จน แสดงออกมาผ่านทางพฤติกรรมก้าวร้าวบนท้องถนน เช่นที่เกิดขึ้นให้เห็นทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาคนเดิมระบุไว้อีกว่า… เรื่องนี้ยังอาจมีสาเหตุจากการที่ไทยกลายเป็นสังคมที่ “ไร้ระเบียบ?-ไร้ปัญญา?”จึงทำให้พบเห็นการ “ทะเลาะวิวาทบนถนน–ใช้ความรุนแรงบนถนน” อยู่เรื่อย ๆ ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน
“ต้องยอมรับว่า… การขับรถในบ้านเรานั้นไม่ค่อยยึดกฎระเบียบ สนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจผู้อื่น นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คนขับรถบนถนนอารมณ์ร้อน อารมณ์รุนแรงไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมา หรือพฤติกรรมแย่ ๆ ของผู้ขับขี่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นบ่อเกิดของความรุนแรง” …นักจิตวิทยาคนเดิมระบุไว้ และสะท้อนไว้อีกว่า…
แม้ปัจจุบันรถส่วนใหญ่มีกล้องหน้ารถ และถนนแทบทุกสายติดตั้งกล้องจราจรหรือกล้องวงจรปิดบันทึกภาพผู้ทำผิดกฎจราจร แต่ก็ไม่ช่วยให้ปัญหา “หัวร้อนบนถนน” ลดลงไป?? จนดูเหมือนคนไทยยุคปัจจุบัน ไม่ได้รู้สึกเกรงกลัวกฎหมาย? หรือ ไม่กลัวที่จะถูกบันทึกภาพการกระทำ? ซึ่งสาเหตุในจุดนี้นั้น…ก็เป็นเพราะคนที่มีอารมณ์โกรธนั้นกำลัง “ขาดสติ” จนไม่ได้สนใจว่าจะถูกบันทึกภาพไว้หรือไม่??… “ถ้ายังมีคนที่ขับรถอย่างไร้กฎระเบียบ คนที่ใช้รถไม่สามารถควบคุมสติและอารมณ์ตัวเองได้ กรณีปัญหาแบบนี้ก็ไม่มีทางที่จะสิ้นสุด” …ทาง ดร.วัลลภ ทิ้งท้ายไว้ถึง “วังวนปัญหา” เรื่องนี้
“หัวร้อนติดล้อ” ในไทย “เกิดไม่หยุด”
บางกรณีก็ “หัวร้อนแบบดูจะกร่าง?”
สังคมก็จึงตามจับตา…“จะรอดมั้ย?”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์