โดยเฉพาะเทศกาลวันสงกรานต์ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของไทยที่เกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่อและการใช้จ่ายจำนวนมากทำให้คนไทยต้องกู้หนี้ยืมสินหรือรูดบัตรเครดิตเพื่อมาใช้จ่ายกับเทศกาล

เทศกาลใช้จ่ายสูง

เทศกาลวันสงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนคนไทยเดินทางกลับภูมิลำเนาเดินทางไปบ้านต่างจังหวัดเพื่อเยี่ยมครอบครัว ทำบุญรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่และเข้าร่วมกิจกรรมสังสรรค์ต่าง ๆ แต่การเฉลิมฉลองเหล่านี้มักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติไม่ว่าจะเป็นค่าการเดินทางค่าของขวัญ ค่าเสื้อผ้าใหม่ค่าใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยงหรือแม้กระทั่งของเซ่นไหว้ในพิธีกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและหน่วยงานเศรษฐกิจพบว่าการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเดือนของเทศกาลสงกรานต์มักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30-50% เมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ ในปีเดียวกันและที่สำคัญคือการใช้จ่ายในช่วงนี้มีจำนวนไม่น้อยเกิดจากหนี้สินโดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลหรือแม้กระทั่งการกู้เงินนอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายในช่วงเทศกาล

จุดเริ่มต้นวงจรหนี้

แม้การก่อหนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายในเทศกาลได้ตามต้องการแต่กลับเป็นการผลักดันเข้าสู่วงจรหนี้ที่ยากจะหลุดพ้น เมื่อการใช้จ่ายไม่ได้อยู่ภายใต้การวางแผนทางการเงินที่ดีการกู้หนี้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลต่าง ๆ จึงไม่ใช่แค่เรื่องชั่วคราวอีกต่อไปแต่กลายเป็นหนี้ที่สะสมยิ่งเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าครองชีพ ค่าพลังงานหรือค่าเล่าเรียนการชำระหนี้หลังเทศกาลจึงกลายเป็นภาระระยะยาวของหลายครัวเรือน

นอกจากนี้บางครอบครัวที่มีรายได้น้อยกลับเลือกที่จะกู้ยืมเงินเพื่อไม่ให้ตกกระแสสังคมในช่วงเทศกาลด้วยความกลัวจะถูกมองว่าไม่มีเงินหรือไม่ให้ความสำคัญกับครอบครัวและประเพณีจนนำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัวเพียงเพื่อรักษาหน้าหรือความสัมพันธ์ทางสังคมแต่ในขณะเดียวกันบางครอบครัวที่มีรายได้น้อยก็เลือกกู้หนี้ยืมสินเพราะต้องเจอกับความลำบากของค่าครองชีพที่สูงและรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย

ภาระสร้างปัญหา

เมื่อหลายครัวเรือนเริ่มต้นด้วยภาระหนี้ทำให้ภาวะทางการเงินโดยรวมของประเทศก็ได้รับผลกระทบและเป็นปัญหาตาม
ไปด้วยเพราะหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นมีผลต่อการบริโภคในภาพรวมการลงทุน และเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวโดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ณ สิ้นปี 67 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับใกล้ 90% ของจีดีพีซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยจาก ธปท. ไตรมาส 4 ปี 67 พบว่าหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง 16.42 ล้านล้านบาท คิดเป็นส่วน 88.4% ต่อจีดีพียิ่งไปกว่านั้นคนไทยมีหนี้เร็วโดยพบว่าคนที่เพิ่งเริ่มทำงานอายุ 20-35 ปี มีหนี้และสัดส่วนไม่ลดลงซึ่งกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงานนี้เองได้สร้างหนี้บัตรเครดิตหนี้ส่วนบุคคล หนี้รถ สูงที่สุดและยังพบว่ามีหนี้เสียสูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับวัยอื่น ๆ เพราะรายได้ยังไม่มากพอต่อรายจ่ายทำให้เกิดปัญหามีหนี้เกินตัว

หนี้เกินตัวหนี้นาน

ส่วนอีกกลุ่มที่มีหนี้เกินตัวเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสัดส่วนรายได้นำไปจ่ายคืนหนี้ไม่ครบเต็มจำนวนและกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยมีหนี้สูงทำให้เงินที่เหลือใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นหรือในชีวิตประจำวันหรือเก็บออมน้อยลงมากประกอบกับคนกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้เลือกชำระหนี้ขั้นต่ำในประเภทหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทำให้หนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปัญหาตามมา

ขณะที่คนไทยมีหนี้นานแม้เกษียณอายุอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปแล้วยังมีหนี้อยู่ซึ่งนั่นหมายความว่าคนที่มีงานประจำ แล้วได้สร้างหนี้ระหว่างทำงานแต่พอเกษียณไม่มีงานทำไม่มีรายได้ แต่หนี้ที่มีอยู่ยังไม่ถูกชำระจนหมดทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ได้เหมือนช่วงที่ทำงานเพราะในช่วงที่มีรายได้อาจไม่ได้มีการวางแผนทางการเงินที่ดีและสิ่งสำคัญของกลุ่มที่มีปัญหาคือไร้เงินออมเพื่อรองรับเหตุไม่คาดฝัน

เฝ้าระวังคุณภาพหนี้

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินสินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทยมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องในปี 68 โดยอาจหดตัวลง 1% ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาจากการฟื้นตัวที่จำกัดของรายได้ในภาคครัวเรือนและภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิมมีผลกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่โดยเฉพาะหนี้ที่มีวงเงินต่อสัญญาที่ค่อนข้างสูงเช่น หนี้บ้าน และหนี้รถยนต์

หากมองภาพสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 68 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงต่อเนื่องและทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 85.0-87.5% ในปี 68 ซึ่งแม้จะต่ำลงจากกรอบประมาณการสำหรับปี 67 ที่ 88.5-89.5% แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับยั่งยืนที่ 80.0% ต่อจีดีพีตามการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส)

“สินเชื่อระบบแบงก์ไทยในปี 68 อาจเติบโตในระดับต่ำ 0.6% แม้จะเป็นระดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับสินเชื่อปิดสิ้นปี 67 ในแดนลบแต่ก็คงต้องยอมรับว่าการเติบโตสินเชื่อปีนี้อยู่ไม่สูงและต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ไม่เพียงมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อและความสามารถในการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน”

เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาทำให้ส่งผลมายังการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตและการเฝ้าระวังดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ในฝั่งของสถาบันการเงินหลังจากที่ข้อมูลของหนี้ด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอล (ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน) และหนี้ที่ใกล้จะเสีย (ค้างชำระหนี้ 30-90 วัน) หรือเรียกว่าเอสเอ็มยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางออกปัญหา

การจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลสงกรานต์จำเป็นต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแนวคิดของสังคมการเฉลิมฉลองไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายหากยังสามารถรักษาเจตนารมณ์ของประเพณีได้การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจหลักการบริหารเงินการวางแผนงบประมาณและการใช้จ่ายอย่างมีสติเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกับบทบาทของภาครัฐภาคเอกชนและทุกภาคส่วนต้องช่วยให้ความรู้ทางการเงินกับครัวเรือนซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลานี้

ดังนั้นช่วงเทศกาลควรเป็นช่วงที่มีความสุขใช้ชีวิตกับครอบครัวไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวงจรหนี้ จนเกิดการสะสมความเครียดทางการเงินและครัวเรือนไทยควรรู้จักวางแผนทางการเงินบริหารเงินให้สอดรับกับรายได้และรายจ่ายที่สำคัญควรมีการเก็บออมเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินจะได้ไม่ก่อหนี้เกินตัวไม่สร้างหนี้จนกลายเป็นปัญหาตามมาในอนาคต!!.

สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด (เครดิตบูโร) เตือนว่าหนี้คนไทยอาจมีปัญหาเข้าระดับวิกฤติเพราะการฟื้นตัวของรายได้ไม่มากพอ​ไม่ทั่วถึง​ ยังมาไม่เต็มที่และไม่เหมือนเดิม​ ประกอบกับคนที่พยายามจะขอกู้ติดกำแพงทั้งชนกำแพงอายุ​เพราะถ้าจะต้องผ่อนเกินอายุ​ 60 ปี 65 ปี​, ชนกำแพงรายได้​เพราะมีข้อกำหนดเรื่องหนี้ต่อรายได้และชนกำแพงสถานะทางเครดิตคือ​เป็นคนเคยค้างชำระหรือไม่​เป็นคนที่กำลังค้างอยู่หรือไม่​เป็นหนี้เสียแค่ไหน​เคยเป็นหนี้ปรับโครงสร้างหรือไม่เป็นต้น

สถานะหนี้ของคนไทยในเดือน ม.ค. 68​ ข้อมูล​สถิติจากเครดิตบูโร​จำนวนกว่า​27 ล้านลูกหนี้​โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์นำไปแยกภาระหนี้สินพบว่าคนที่มีสุขภาพทางการเงินในระดับดี​ซึ่งน่าจะพอยื่นกู้ได้เพียง​ 25% ส่วนที่เหลือดูจะมีเงื่อนไขในการได้รับอนุมัติตามมาตรฐานสินเชื่อในปัจจุบันที่เข้มถึงเข้มมาก​

ภาพใหญ่ของสินเชื่อในระบบที่มีการส่งข้อมูล​มาที่เครดิตบูโร​ทุกเดือน​ตัวเลขหนี้คือ 13.6 ล้านล้านบาท ​ถ้าบวกเพิ่มด้วยหนี้ที่สหกรณ์​ออมปล่อยกู้สมาชิกและกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และอื่น ๆ เมื่อรวมแล้วคือหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ​16.3 ล้านล้านบาท

การเติบโตของหนี้ของบุคคลธรรมดาในระบบเท่ากับหดตัว​ -​0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหมายถึงสินเชื่อรายย่อยไม่ขยับ​จึงเห็นว่ากู้ไม่ได้​กู้ไม่ผ่าน​อัตราการปฏิเสธการให้สินเชื่ออยู่ในระดับที่สูง​ซึ่งหากดูข้อมูลพบว่า 1.22​ ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียเอ็นพีแอลคิดเป็นจำนวนทุกประเภทสินเชื่อ​ 9.5 ล้านบัญชี และมี 5.8 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่กำลังจะเสียเรียกว่าหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือหนี้​เอสเอ็ม​จำนวน​ 1.9 ล้านบัญชี โดยมีหนี้เสียนำมาปรับโครงสร้างหนี้อีก​ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น ​3.7 ล้านบัญชี

“ต่อมาคือหนี้ที่เริ่มค้างชำระหรือเริ่มมีปัญหาแต่ยังไม่เกิน​ 90 วันซึ่งมีการรีบเร่งเอามาทำการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันเพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ​เริ่มเก็บข้อมูล​เดือน เม.ย. 67 ตอนนี้ยอดสะสมเท่ากับ​ 9.2 แสนล้านบาท จำนวน​ 1.7 ล้านบัญชี ด้วยตัวเลขหนี้ที่มีลักษณะ​ต่าง ๆ ข้างต้น​ด้วยจำนวนมูลหนี้เป็นบาท​ด้วยจำนวนที่นับเป็นบัญชี​แล้ว​มีปัญหาระดับที่อาจเรียกว่าวิกฤติได้”

ทีมเศรษฐกิจ