ไม่ใส่กางเกงชั้นในไม่ได้ทำให้เป็นโรคไส้เลื่อน” ที่ผ่านมาคนไทยเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้มาก ขณะที่ นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง ระบุว่า โรคไส้เลื่อน (Hernia) เกิดจากผนังหน้าท้องของเราไม่แข็งแรง เกิดเป็นช่องว่างจนมีอวัยวะภายในช่องท้องยื่นออกมาได้ ส่วนใหญ่จะพบบริเวณขาหนีบ (Inguinal hernia) และบริเวณผนังหน้าท้อง (Ventral hernia)

สิ่งที่สามารถยื่นออกมาได้ ก็เช่น ไขมันภายในช่องท้อง ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงกระเพาะปัสสาวะ”

ส่วนโรคไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อยนัก ได้แก่ ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) ที่สัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อนและโรคไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator Hernia) ที่มีโอกาสทำให้เกิดลำไส้ขาดเลือดได้สูง

ทั้งนี้ อาการของโรคไส้เลื่อนก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งและชนิดของโรค เช่น 1.ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia)จะรู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรยุบ ๆโผล่ ๆ ใกล้ ๆ กับขาหนีบ บางครั้งอาจจะมีอาการปวดร้าวไปบริเวณอัณฑะหรือขาหนีบได้ โดยมักจะมีอาการเวลา เบ่ง ไอ จาม ลุกขึ้นยืน หรือเดิน เมื่ออาการเป็นหนักมากขึ้นจะมีอาการปวดตลอดเวลา หรือมีอาการอุดตัน และขาดเลือดของลำไส้ได้

2.ไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง (Ventral hernia, Incisional hernia) จะรู้สึกเหมือนมีก้อนยุบ ๆ โผล่ๆ บริเวณหน้าท้อง ส่วนใหญ่จะพบบริเวณตรงกลางหน้าท้อง สะดือ หรือบริเวณแผลผ่าตัด เมื่อเป็นมากจะเริ่มมีอาการปวด มีการอุดตันของลำไส้ และเกิดการขาดเลือดได้เช่นเดียวกัน

3.ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) จะเป็นโรคที่ไม่ค่อยคุ้นในคนไทย แต่ในปัจจุบันสามารถพบได้บ่อยมากขึ้น ในผู้ที่น้ำหนักเกิน และสัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อน

4.ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator hernia) พบได้ไม่บ่อย โดยจะสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ ที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง ซึ่งมีโอกาสการเกิดลำไส้อุดตัน และขาดเลือดได้สูง อาการเริ่มต้นคือ ปวดท้อง บิด ๆ ตลอดเวลา ไม่สามารถสังเกตก้อนได้จากภายนอก ต้องอาศัยการตรวจซีทีสแกน (CT scan) เพิ่มเติมบริเวณช่องท้อง

นพ.ศิรสิทธิ์ บอกว่า สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไส้เลื่อน มีอยู่ 2 ประการ คือ 1.ปัจจัยที่ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้อง ได้แก่ อาการท้องผูกเรื้อรัง ปัสสาวะลำบาก การยกของหนัก การตั้งครรภ์ โรคอ้วน อาการไอเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นจากการสูบบุหรี่ หรือ โรคประจำตัวก็ตาม 2.ปัจจัยที่ทำให้ผนังหน้าท้องเราอ่อนแอ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น มีความผิดปกติของผนังหน้าท้องแต่กำเนิด หรือมีประวัติเคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน

โดยปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยไส้เลื่อนได้จากการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบ หรือไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง แต่ในกรณีไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ หรือไส้เลื่อนที่มีขนาดเล็ก อาจจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำ CT scan, MRI, หรือส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น

ทั้งนี้ การผ่าตัดโดยทั่วไปแล้วจะเป็นการเย็บซ่อมแซมบริเวณผนังหน้าท้อง และเสริมความแข็งแรงด้วยตาข่ายเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ โดยในอดีตการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อนจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดซึ่งมีแผลเป็นขนาดใหญ่เกือบ 10 ซม. และฟื้นตัวได้ช้า แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยรองรับมากมายว่า การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อน ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวไวกว่าการผ่าตัดแบบเปิด โดยจะผ่าตัดผ่านแผลเล็ก ๆขนาดไม่เกิน 1 ซม. ซึ่งจะเป็นซ่อมแซมผนังหน้าท้องจากภายใน และอีกหนึ่งข้อดีที่สำคัญคือสามารถผ่าตัดไส้เลื่อนทั้ง 2 ข้างได้พร้อมกัน โดยผ่านแผลเดียวกัน

นอกจากนี้ยังต้อง ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เพื่อช่วยลดการกลับเป็นซ้ำ เช่น การรักษาโรคปัสสาวะลำบาก ท้องผูกเรื้อรัง รักษาสาเหตุอาการไอเรื้อรัง เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนักส่วนเกิน

หากใครเริ่มมีอาการแล้ว แนะนำให้เข้าไปปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยสามารถติดตามหรือสอบถามรายละเอียดของโรคได้ที่ [email protected], [email protected], [email protected] และ เฟซบุ๊กหมอโจอี้ นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้อง.